กระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วไปไหนต่อ?
ชวนดูกระบวนการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียม

เคยสงสัยกันไหมว่ากระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วจะไปไหนต่อ?

หลายคนทิ้งกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วลงถังขยะโดยไม่รู้ว่ามันจะได้กลับมาเป็นกระป๋องใบใหม่ วนลูปซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้เราได้ใช้ประโยชน์กัน

เพื่อชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของกระป๋องอลูมิเนียมที่บรรจุเครื่องดื่มให้คุณได้บริโภคกัน เราอยากชวนมาดูกระบวนการ รีไซเคิล กระป๋องอลูมิเนียมตั้งแต่ทิ้งลงถังขยะ รีไซเคิล จนถึงการหลอมเศษกระป๋องให้เป็นแผ่นอลูมิเนียมเพื่อใช้ผลิตเป็นกระป๋องต่อไป

ต้องบอกก่อนว่าคุณก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมได้ โดยล้างกระป๋องให้สะอาดหลังบริโภคหมดแล้ว คว่ำให้แห้ง แล้วบีบให้แบนเพื่อประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บและขนส่ง ก่อนจะนำไปทิ้งที่ถังขยะรีไซเคิล หรือจะขายให้ซาเล้งหรือร้านรับซื้อของเก่า นอกจากนี้ยังนำไปบริจาคตามจุดรับบริจาคต่างๆ ได้ด้วย

กระป๋องอลูมิเนียมที่ถูกเก็บรวบรวม
กระป๋องอลูมิเนียมอัดก้อนที่ผ่านการคัดแยกแล้ว

จากนั้น คนเก็บขยะหรือผู้รวบรวมรายย่อยก็จะรวบรวมขยะประเภทกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วส่งให้โรงงานรับซื้อขนาดใหญ่ เพื่อคัดแยกบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมอื่นๆ กระป๋องเหล็ก รวมถึงวัสดุประเภทอื่นที่อาจปะปนมาออกจากกระป๋องอลูมิเนียม ก่อนจะบีบให้มีขนาดเล็กแล้วอัดรวมกันเป็นก้อนสี่เหลี่ยมเพื่อประหยัดพื้นที่ในการขนส่งและจัดเก็บ ซึ่งจะส่งให้โรงงานรีไซเคิลต่อไป

การคัดแยกเหล็กด้วยสายพานแม่เหล็กที่โรงงานรีไซเคิล

ถัดมาที่โรงงานรีไซเคิล กระบวนการรีไซเคิลจะเริ่มต้นด้วยการหั่นย่อย (Shredding) เศษอลูมิเนียมอัดก้อนที่ได้รับมาจากโรงงานคัดแยกขยะให้เป็นชิ้นเล็กลง เพื่อตรวจสอบสิ่งที่ปะปนมากับกระป๋องอลูมิเนียมอีกครั้ง หลังจากนั้นจะถูกคัดแยกเหล็กด้วยสายพานแม่เหล็กขนาดใหญ่เพื่อป้องกันเหล็กกระป๋องสเปรย์ และอลูมิเนียมอื่นๆ ที่อาจจะยังปะปนมากับกระป๋องอลูมิเนียม รวมถึงเศษไม้ เศษพลาสติก ดิน และทรายด้วยเช่นกัน

เศษกระป๋องอลูมิเนียมที่ผ่านการขจัดสีและทำความสะอาดแล้ว

จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนขจัดสีและทำความสะอาด (De-lacquering) ทั้งสีภายนอกและเเลคเกอร์ภายในตัวกระป๋อง ในขั้นตอนนี้จะมีการใช้เตาเผา (Rotary Kiln) โดยใช้ความร้อนระบบ Gasification หรือการเปลี่ยนสีบนกระป๋อง รวมถึงเศษไม้และเศษพลาสติกอื่นๆ ที่อาจจะหลุดลอดเข้ามาให้กลายเป็นเชื้อเพลิง เกิดเป็นพลังงานความร้อนซึ่งจะหมุนวนกลับเข้าเตาเผาอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงไปได้มาก

ระบบ Gasification มีข้อดีตรงที่สามารถลดการปล่อยมลพิษที่เกิดจากกระบวนการเผาและขจัดสี โดยนำมลพิษและความร้อนที่ได้มาหมุนวนกลับเข้าเตาอีกครั้งซึ่งเป็นการลดการใช้พลังงานไปในตัว การขจัดสีด้วยวิธีนี้ยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทำให้อลูมิเนียมที่ได้มีคุณสมบัติทางเคมีที่เหมาะสม เพื่อที่จะนำไปผลิตเป็นกระป๋องอลูมิเนียมต่อไป

เศษกระป๋องอลูมิเนียมที่ผ่านการบดให้ละเอียดและการร่อนเพื่อแยกขนาด

และเมื่อสีถูกขจัดออกหมดแล้วก็จะทำการสับและบดให้ละเอียด (Grinding) ตามด้วยการร่อนเพื่อแยกขนาดอลูมิเนียมที่มาจากตัวกระป๋องและจากฝาออกจากกัน เนื่องจากตัวกระป๋องและฝามีอลูมิเนียม 2 ชนิดซึ่งมีคุณสมบัติทางเคมีต่างกันประกอบกันอยู่ หลังจากนั้นจะทำการบีบอัดและรีดให้มีลักษณะเป็นแผ่นหนาคล้ายเหรียญ แล้วจัดส่งให้กับโรงงานที่ทำการหลอมและขึ้นรูปเป็นแผ่นอลูมิเนียมต่อไป

การหลอมอลูมิเนียม

หลังจากได้เศษวัสดุอลูมิเนียมมาแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการหลอม (Melting) ในเตาหลอมที่มีอุณหภูมิสูงถึง 700 องศาเซลเซียส ซึ่งในขั้นตอนนี้จะมีการปรุงแต่งค่าทางเคมี เช่น เติมอลูมิเนียมบริสุทธิ์ แมกนีเซียม และซิลิคอน เพื่อให้ได้ตามคุณสมบัติที่เหมาะสมกับแต่ละชนิดของผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม

สำหรับตัวกระป๋องและฝาอลูมิเนียมนั้น ถึงแม้จะใช้วัสดุอลูมิเนียมเหมือนกัน แต่ที่จริงแล้วกลับเป็น Aluminium Alloy หรืออลูมิเนียมที่มีส่วนผสมจากแร่ธาตุอื่นๆ คนละชนิดกัน โดยตัวกระป๋องจะใช้อลูมิเนียมที่มีความแข็งแรงปานกลาง แต่มีความยืดหยุ่นหรือความเหนียวสูงเพื่อให้ขึ้นรูปตัวกระป๋องได้ง่าย ในขณะที่ฝาจะใช้อลูมิเนียมที่มีความแข็งแรงหรือความกรอบมากกว่าเพื่อให้สามารถได้เปิดง่าย

การหล่ออลูมิเนียมเพื่อขึ้นรูปเป็นแท่ง
การรีดแผ่นอลูมิเนียมให้แบนและบางตามขนาดที่ต้องการ

จากนั้นทำการหล่อเพื่อขึ้นรูปเป็นแท่ง (Slab Casting) ตามด้วยการขัด (Scraping) โดยการปาดผิวแท่งอลูมิเนียมให้มีความสม่ำเสมอกัน และเพิ่มความร้อนให้แท่งอลูมิเนียมด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นอีกครั้ง เพื่อเตรียมการรีดให้เป็นแผ่นบาง

ม้วนอลูมิเนียมที่ผ่านการรีดจนแบนและบาง

ในขั้นตอนการรีดนั้นจะใช้ Rolling Machine 4 ชั้นในการรีดแท่งอลูมิเนียมที่หนักประมาณ 30 ตันและหนาประมาณ 500 มิลลิเมตรให้บางและแบนจนได้ระดับความหนาของแผ่นอลูมิเนียมเหลือเพียง 50 มิลลิเมตร ก่อนจะม้วนเป็นม้วนอลูมิเนียม (Aluminium Coil) ที่มีความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งสามารถนำไปผลิตกระป๋องได้ถึง 1,250,000 ใบเลยทีเดียว ตามด้วยการเคลือบผิว (Coating) เพื่อขจัดคราบไขมันและทำให้ผิวอลูมิเนียมทนต่อการสึกกร่อน แล้วจึงจะส่งต่อให้ผู้ผลิตกระป๋องอลูมิเนียมเพื่อผลิตเป็นกระป๋องอลูมิเนียมใบใหม่ต่อไป

เมื่อได้วัสดุที่ผ่านการรีไซเคิลมาจนครบกระบวนการแล้ว ก็จะเป็นหน้าที่ของโรงงานผลิตกระป๋องอลูมิเนียมในการผลิตตัวกระป๋อง ฝา และห่วงดึง ซึ่งใช้วัสดุจากม้วนอลูมิเนียม (Aluminium Coil) ที่มี Recycled Content หรือส่วนผสมของวัสดุอลูมิเนียมสูงถึง70% (ดูกระบวนการผลิตกระป๋องอลูมิเนียมได้ที่บทความวิธีการผลิตกระป๋องอลูมิเนียม)

 

จากกระบวนการรีไซเคิลจนได้มาเป็นแผ่นอลูมิเนียมเพื่อใช้ผลิตกระป๋องอลูมิเนียมวนลูปไปอย่างไม่รู้จบตามที่กล่าวมานั้น ถือว่าเป็นวงจรที่จะทำครบลูปได้ยากมาก เพราะไม่ใช่ทุกประเทศจะสามารถทำได้ครบวงจรภายในประเทศ แต่ในประเทศไทยเองนั้นกลับมีโรงงานที่ทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่ครบในระยะที่ห่างกันไม่เกิน 200 กิโลเมตรเท่านั้น ด้วยการเข้ามาของ UACJ โรงงานที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตวัตถุดิบอลูมิเนียม ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศในเอเชียนอกจากญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ และเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถปิดลูปการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Thai Beverage Recycle ผู้รวบรวมและคัดแยกขยะ (Collector) รายใหญ่,  Anglo Asia Group โรงงานรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมที่ได้รับการยอมรับด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ และ UACJ (Thailand) ผู้ผลิตวัตถุดิบอลูมิเนียมด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงจากประเทศญี่ปุ่น

Facebook
Twitter
LinkedIn

บทความที่เกี่ยวข้อง

รู้หรือไม่ ราคาอลูมิเนียมขึ้นลงไม่ต่างกับราคาทอง!

โลหะที่อยู่รอบตัวเราชนิดต่างๆ ราคาขึ้นลงไม่ต่างจากราคาทองเลย รวมถึงราคาของอลูมิเนียมด้วยเช่นกัน ทำไมราคาถึงไม่นิ่ง มาหาคำตอบกัน

อ่านต่อ

ASI สำคัญกับอุตสาหกรรมอลูมิเนียมอย่างไร?

เพื่อความโปร่งใสในการใช้วัสดุอลูมิเนียมอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีการรับรองอย่าง ASI เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภค

อ่านต่อ