คุยเฟื่องเรื่องยั่งยืน
ตอน อย่ามัวแต่รู้แล้วเฉย

จำนวนประชากรทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นทุกวันทำให้การบริโภคมากขึ้นจนทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลงทุกที เมื่อยังมีให้บริโภคให้ใช้ คนก็กินก็ใช้อย่างไม่ประหยัด โดยไม่มีจิตสำนึกของการกลัวความขาดแคลนในวันหน้า

การกินกับใช้กันอย่างไม่อั้นเช่นนี้ได้กดดันให้เกิดความจำเป็นในการใช้และการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติ (รวมถึงน้ำและอากาศบริสุทธิ์) เป็นไปอย่างเหมาะสมและสมเหตุสมผลมากขึ้น

ที่สำคัญก็คือ ทรัพยากรที่ลดน้อยลงทำให้ผู้คนต้องคิดต้องทบทวนเกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคมากขึ้น

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงมีความสำคัญมากขึ้นทุกที และผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็มีแนวความคิดที่ต้องการส่งมอบ “ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์และสะอาด” ให้แก่เยาวชนรุ่นหลัง

จากวันนั้นถึงวันนี้  สถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเริ่มเข้าสู่ “ภาวะวิกฤต” ทุกขณะ

 

จากหนังสือเรื่อง “Our Common Future” (ค.ศ.1987) ของนายกรัฐมนตรีหญิงแห่งนอร์เวย์ “Gro Harlem Brundtland” ที่เป็นพื้นฐานของแนวความคิดเกี่ยวกับ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development) จนถึงหนังสือและสารคดีช็อกโลก เรื่อง “An Inconvenient Truth” (ค.ศ.2013) เกี่ยวกับ “ภาวะโลกร้อน” ที่นำเสนอโดยอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา “Al Gore” ก็สามารถกระตุกให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมให้หันมาทบทวนบทบาทและวิธีปฏิบัติของตนเองต่อสังคมและโลกอย่างจริงจัง

 

มาถึงวันนี้ ก็เห็นจะมีแต่หนูน้อยชาวสวีเดน “เกรธา ทุนเบิร์ก” ที่กล่าวสุนทรพจน์ดุเดือดด้วยคำที่ทุกคนจำได้ คือ “คุณกล้าดียังไง?” (How dare you?)  เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2019  จนสั่นสะเทือนโลกอีกครั้ง

เกรธา ทุนเบิร์ก วัย 16 ปี  ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์เปิดเวทีประชุมสุดยอดผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN) ในนครนิวยอร์ก ซึ่งจัดขึ้นในสัปดาห์แห่งการประชุมสามัญของสมัชชาใหญ่ยูเอ็น ครั้งที่ 74

เด็กหญิงคนเก่งได้กล่าวด้วยน้ำเสียงขุ่นเคืองและน้ำตาคลอต่อความล้มเหลวของผู้ใหญ่ที่เอาแต่พูดฝากความหวังให้คนรุ่นหลังโดยไม่แก้ไขปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นอยู่ในรุ่นของตัวเองเลย ตอนหนึ่งของสุนทรพจน์มีความว่า

พวกคุณทั้งหมดเอาแต่พูดเรื่องเงินๆ ทองๆ และนิทานหลอกเด็กถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจอันนิรันด์ คุณกล้าดียังไง !

โลกของข้อมูลข่าวสารและสื่อโซเชียลมีเดียที่รวดเร็วทำให้สังคมโลกในวันนี้ไม่สามารถปฏิเสธเรื่อง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในน้ำมือมนุษย์ได้อีกต่อไป

วันนี้ ผู้บริหารในองค์กรต่างๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับ “ความยั่งยืน” ใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ “อนาคตที่ยั่งยืน” (sustainable future) และ “การเติบโตอย่างยั่งยืน” (Sustainable Growth)

 

  • “อนาคตที่ยั่งยืน” ขององค์กรใดๆ จะอยู่ที่ความสามารถในการพัฒนา สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีต่อสังคมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
  • “การเติบโตอย่างยั่งยืน” ขององค์กรใดๆ จะอยู่ที่การให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม การดูแลสังคม และธรรมาภิบาล ที่ดำเนินการภายใต้แนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ด้วยการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อรองรับการเติบโต

 

ดังนั้น การประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของ “ความยั่งยืน” เพราะจะขยายผลต่อไปสู่ “ชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน” ต่อไปได้ด้วย

วันนี้ของพวกเราจึงต้องร่วมด้วยช่วยกันอย่างจริงจัง  อย่ามัวแต่รู้แล้วเฉย  ครับผม !

Facebook
Twitter
LinkedIn

บทความที่เกี่ยวข้อง

เปลี่ยนขยะเป็นบุญ เพื่อมูลนิธิขาเทียมฯ

เปลี่ยนขยะเป็นบุญ เมื่อคุณหมุนเวียน เพื่อมูลนิธิขาเทียมฯ ต่อยอดการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ส่งต่อมูลค่าให้กับมูลนิธิขาเทียม

อ่านต่อ

Circular Economy กับการหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์

สำหรับประเทศไทย เราให้ความสำคัญกับ Circular Economy ขนาดไหน มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไร แล้วยังมีเรื่องใดอีกที่เกี่ยวข้อง ไปหาคำตอบกัน

อ่านต่อ