LCA: Life Cycle Assessment
กับวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์

คุณรู้หรือไม่ว่าวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์มีส่วนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม! นั่นทำให้ต้องมีการประเมินวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์เพื่อช่วยโลกของเราจากผลกระทบที่เกิดขึ้น…

 

ในปัจจุบันที่โลกกำลังย่ำแย่ลงด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้น หลายภาคส่วนต่างพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น จะจากต้นทางหรือปลายทางก็ดี นั่นเป็นการแก้ในสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว สิ่งสำคัญคือ จะมีการพัฒนา ปรับปรุง และป้องกันอย่างไรไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปมากกว่านี้

ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในปัจจัย 4 ที่คุณอุปโภคและบริโภคอยู่ในทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่มีบรรจุภัณฑ์คอยห่อหุ้มป้องกัน สุดท้ายแล้วบรรจุภัณฑ์เหล่านี้จะกลายเป็นขยะที่อาจจะรีไซเคิลได้หรือไม่ก็จบลงที่กองขยะฝังกลบ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตก็ยังคงต้องผลิตบรรจุภัณฑ์ออกมาอย่างไม่รู้จบเพื่อตอบสนองการบริโภคที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน

นั่นจึงไม่ใช่แค่การคิดว่าจะจัดการขยะจากบรรจุภัณฑ์อย่างไรให้กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด แต่เริ่มตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบเลยทีเดียวที่ควรต้องนำมาพิจารณาว่าการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์แต่ละชนิดนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในมุมใดบ้าง

โดยหลักการที่นำมาใช้นี้ก็คือ…

LCA (Life Cycle Assessment) หรือ การประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการประเมินเชิงปริมาณถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ โดยครอบคลุมทุกขั้นตอนตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้ผลิตภัณฑ์ รวมถึงการจัดการของเสียหลังการใช้งาน

เพื่อพิจารณาว่าบรรจุภัณฑ์แต่ละชนิดมีวงจรชีวิตอย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน เราจำเป็นจะต้องดูให้ลึกลงไปถึงวงจรใน 5 ส่วนดังต่อไปนี้

 

1. การจัดหาวัตถุดิบ

วัตถุดิบที่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ทุกชนิดล้วนแล้วแต่มาจากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งการจะได้มาต้องผ่านกระบวนการสกัด ขุดเจาะ หรือตัดทำลายแตกต่างกันไป เช่น การสำรวจ ขุดเจาะแหล่งน้ำมันเพื่อผลิตขวดพลาสติก, การขุดเหมืองเพื่อสกัดแร่บอกไซต์สำหรับอลูมิเนียมที่จะนำมาผลิตเป็นกระป๋อง, การทำเหมืองทรายแก้วเพื่อผลิตแก้ว และการตัดไม้เพื่อผลิตกล่องกระดาษ

ในการจัดหาวัตถุดิบเหล่านี้ ไม่มีวัตถุดิบสำหรับบรรจุภัณฑ์ไหนได้มาโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างการตัดไม้เพื่อผลิตกระดาษก็ส่งกระทบต่อบรรยากาศ ความชุ่มชื้นของแหล่งน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น

2. กระบวนการผลิต

บรรจุภัณฑ์แต่ละประเภทมีกระบวนการผลิตแตกต่างกันไป ซึ่งสิ่งที่มาพร้อมกับการผลิตก็คงหนีไม่พ้นการปล่อยของเสียจากการผลิตนั้นๆ ออกมาซึ่งมีทั้งของเสียที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์ในขั้นตอนการหลอมเพื่อผลิตแก้วและอลูมิเนียมได้ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศจนนำไปสู่ภาวะโลกร้อน หรือการปล่อยน้ำเสียจากการล้างทำความสะอาดต่างๆ ในกระบวนการผลิตที่ไม่ได้รับการบำบัดอย่างถูกวิธีตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดก็จะนำพาสารเคมีที่อาจปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

3. การขนส่งเพื่อจัดจำหน่าย

ในขั้นตอนการขนส่งนั้น หลายคนอาจจะคิดไม่ถึงว่าเป็นหนึ่งในวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ด้วย ซึ่งก็ถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญที่จะเปลี่ยนผ่านจากการผลิตมาสู่การบริโภค 

ด้วยรูปทรงและน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์แต่ละประเภทที่แตกต่างกัน จึงทำให้การขนส่งไม่เหมือนกัน เช่น กระป๋องอลูมิเนียมมีน้ำหนักเบา ง่ายและสะดวกต่อการขนส่งไม่ว่าระยะทางจะไกลขนาดไหน จึงสามารถขนส่งครั้งละมากๆ ได้ ทำให้ประหยัดพลังงานที่ใช้ในการขนส่งและลดของเสียที่ปล่อยออกมาจากยานพาหนะที่ใช้ขนส่ง กลับกันในขณะที่แก้วมีน้ำหนักมากกว่าบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่น และยังเสี่ยงต่อการแตกสลายได้ง่ายจากการกระทบกระเทือน นั่นจึงทำให้การขนส่งบรรจุภัณฑ์แก้วทำได้ครั้งละไม่มากเมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์อื่น ส่งผลให้การปล่อยของเสียสู่สภาพแวดล้อมจากกระบวนการขนส่งเกิดขึ้นได้มาก

4. การใช้งาน

ในด้านการใช้งานถือเป็นกิจกรรมสำหรับการอุปโภคบริโภคของมนุษย์ ซึ่งเมื่อการบริโภคเสร็จสิ้นแล้ว สิ่งที่ยังเหลือไว้ก็คือบรรจุภัณฑ์ซึ่งจะกลายเป็นขยะต่อไป ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก ถุงกระดาษ กระป๋องอลูมิเนียม หรือขวดแก้วบรรจุเครื่องดื่ม และขยะจากบรรจุภัณฑ์เหล่านี้จะไปไหนต่อก็ขึ้นอยู่กับการจัดการของผู้ใช้งาน 

วงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ในขั้นตอนนี้จึงไม่ได้ถูกประเมินว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงจากตัวมันเอง แต่มีผู้ใช้งานเข้ามาเป็นตัวแปรในการสร้างผลกระทบผ่านการจัดการขยะหลังการใช้งาน

5. การเก็บรวบรวมและคัดแยกเพื่อรีไซเคิล

การรีไซเคิลเป็นวิธีการจัดการขยะหลังใช้งานที่คุ้มค่าวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ที่สุด เพราะสามารถหมุนเวียนเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ประเภทเดิมได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้จะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจาก Mono material เช่น ขวดแก้วหรือกระป๋องอลูมิเนียม โดยกระป๋องอลูมิเนียมที่ผลิตในประเทศไทยนั้นมีส่วนผสมของกระป๋องอลูมิเนียมรีไซเคิลหรือที่เรียกว่า Recycled Content สูงถึง 70% (ค่าแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ) ส่วนขวดแก้วก็สามารถ Reuse ได้อีกหลายครั้งก่อนนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งการ Reuse ขวดแก้วนี้แทบจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเลย แต่ก็ต้องใส่ใจเรื่องความสะอาดเพื่อใช้ซ้ำเป็นสำคัญด้วย

อย่างไรก็ตาม บรรจุภัณฑ์บางประเภทก็ไม่ได้สามารถรีไซเคิลได้เรื่อยๆ เสมอไปซึ่งจะเป็นพวก Mixed material packaging เช่น กล่องกระดาษที่ไม่สามารถรีไซเคิลให้กลับมาเป็นกล่องใบใหม่ได้เนื่องจากมีส่วนผสมทั้งกระดาษ พลาสติก และอลูมิเนียม ซึ่งสามารถนำไป Downcycle ให้กลายเป็นหลังคาหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ได้

ด้วยประเภทบรรจุภัณฑ์และประสิทธิภาพการรีไซเคิลจึงทำให้วงจรชีวิตของแต่ละบรรจุภัณฑ์มีระยะเวลาไม่เท่ากัน บางบรรจุภัณฑ์อาจจะมีวงจรชีวิตสั้น เนื่องจากไม่สามารถรีไซเคิลให้กลับมาเป็นบรรจุภัณฑ์ชนิดเดิมได้อีกเมื่อเทียบกับบางบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ไม่รู้จบ

จะเห็นได้ว่าวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์สามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ในทุกขั้น คุณเองในฐานะผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้โดยการเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่าที่จะเป็นได้ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบจนถึงการจัดการหลังการใช้งาน ซึ่งบทความนี้ก็จะเป็นการยกตัวอย่างให้เห็นวงจรชีวิตของบางบรรจุภัณฑ์ว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

การเลือกของคุณมีความหมาย เพราะนั่นถือเป็นผลตอบรับที่จะดังไปถึงผู้ผลิตว่านี่คือความต้องการของผู้บริโภคที่ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงเพื่อพัฒนาและปรังปรุงผลิตภัณฑ์ต่อไป แล้ววันนี้คุณต้องการที่จะใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำร้ายโลกแค่ไหน?

และเพื่อเข้าถึงบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เราจะมาเจาะลึกถึงการประเมินผลกระทบของบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ ต่อสิ่งแวดล้อมกันต่อไปในบทความหน้า ต้องรอติดตามกันนะคะ

อ้างอิง
– อรพรรณ บุญพร้อม, LCA คือ อะไร?, 2009
https://en.mahidol.ac.th/EI/1089_4.html
– ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, ปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าไม้
https://www.set.or.th/set/enterprise/article/detail.do?contentId=7368
– Voathai, ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง, 2009
https://www.voathai.com/a/a-47-2009-07-31-voa7-90648749/922555.html
Facebook
Twitter
LinkedIn

บทความที่เกี่ยวข้อง

รู้หรือไม่ ราคาอลูมิเนียมขึ้นลงไม่ต่างกับราคาทอง!

โลหะที่อยู่รอบตัวเราชนิดต่างๆ ราคาขึ้นลงไม่ต่างจากราคาทองเลย รวมถึงราคาของอลูมิเนียมด้วยเช่นกัน ทำไมราคาถึงไม่นิ่ง มาหาคำตอบกัน

อ่านต่อ