Liquid Death น้ำดื่มกระป๋องที่เกิดมาเพื่อฆ่า…
น้ำดื่มกระป๋องยอดขายกว่า 2 หมื่นล้านบาท กำลังเป็นที่จับตามองในฐานะแบรนด์สุดกล้าบ้าบิ่นที่มีภาพลักษณ์ดิบเถื่อน แต่ได้รับการยอมรับอย่างล้นหลาม
Aluminium Loop อยากรู้ ใครแยกขยะก่อนทิ้งบ้าง?
วิถีชีวิตของทุกคนต้องพบเจอกับขยะในทุกๆ วัน ผู้บริโภคคือตัวแปลสำคัญในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อให้ขยะไปสู่แหล่งกำจัดขยะที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
แม้ว่าการแยกขยะก่อนทิ้งอาจจะดูเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน แต่ในฐานะผู้บริโภคที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างขยะก็ควรแสดงความรับผิดชอบต่อการบริโภคเพื่อดำเนินชีวิตของตนด้วยเช่นกัน
แต่อะไรที่จะทำให้คุณตัดสินใจที่จะแยกขยะก่อนทิ้งล่ะ Alumnium Loop ชวนทุกคนมาฟังมุมมองของผู้บริโภคในฐานะ ผู้บริหาร คนวัยทำงาน Influencer นักศึกษา ครู และผู้ประกอบอาชีพค้าขาย ว่ามีมุมมองและแนวทางในการจัดการขยะอย่างไร ผ่านบทสัมภาษณ์ในพอดแคสต์ EPR Series ตอน “เปิดมุมมองของผู้บริโภคเข้าสู่โลกแห่งการคัดแยก”
คุณณัฐวุฒิ เฮิงมล (กลุ่มบริหารงานฝ่ายตรวจสอบและงานระบบ สภาอุตสาหกรรม)
ขยะในสำนักงานมีหลากหลายประเภท ไม่เพียงแต่ขยะกระดาษที่มีเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น แต่ยังมีขยะอาหาร และขยะบรรจุภัณฑ์อย่างขวดน้ำ ที่สามารถแยกได้ด้วย จึงมีการปลูกฝังให้พนักงานมีจิตสำนึกเรื่องการแยกขยะ เพราะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะให้สำนักงาน อีกทั้งขยะที่แยกไว้ยังสามารถนำไปขายเป็นรายได้เพิ่มเติมให้สภาอุตสาหกรรมได้
คุณนันทิวัต ธรรมหทัย (ผอ. องค์กรสัมพันธ์การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า ประเทศไทย)
การเริ่มต้นแยกขยะอาจจะเริ่มจากสิ่งที่แยกได้ง่ายๆ เช่น แยกขยะเปียกออกจากขยะแห้ง หลังจากนั้นก็จะแยกได้ละเอียดมากขึ้น ยิ่งในปัจจุบันนี้ที่ขยะส่วนใหญ่ก็มีทางไปต่อเกือบหมด ถ้าเรารวบรวมแล้วแยกให้ดีเพื่อส่งต่อก็จะเป็นการช่วยลดขยะได้ด้วย
คุณชณัฐ วุฒิวิกัยการ (KongGreenGreen: Influencer ด้านสิ่งแวดล้อมและการคัดแยกขยะ)
ปัจจุบันเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่คนตระหนักในวงกว้างไม่ใช่แค่วัยผู้ใหญ่ เด็กรุ่นใหม่ก็ให้ความสนใจและใส่ใจด้วยเช่นกัน เช่น การหาวิถีการจัดการขยะในพื้นที่เล็กๆ อย่างหอพักให้มีประสิทธิภาพที่สุด เช่น การส่งพลาสติกไปโครงการ “วน” ส่งฝาขวดไปโครงการ “Precious Plastic” ส่งขยะกำพร้าไปทำเชื้อเพลิงที่ N15 เป็นต้น นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ที่อยากทำธุรกิจของตนเองก็ยังตระหนักถึงความเป็นมิตรกับโลก เช่น เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ในร้านกาแฟที่เป็นมิตรต่อโลก แม้จะต้องมีต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็สามารถลบล้างกับต้นทุนที่ต้องเสียให้กับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจากปัญหาขยะในภายหลัง
“การยอมจ่ายต้นทุนที่จะเพิ่มความเป็นมิตรต่อโลกในการทำธุรกิจ ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบตั้งแต่ต้นทาง” – คุณชณัฐ วุฒิวิกัยการ (KongGreenGreen: Influencer ด้านสิ่งแวดล้อมและการคัดแยกขยะ)
คุณภัทรนันท์ คำศิรินันท์ (นักศึกษา คณะวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล)
การแยกขยะเป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิต เพราะเมื่อเราถูกปลูกฝังให้มีจิตสำนึกในแยกขยะก่อนทิ้ง นั่นคือสิ่งที่บ่งบอกว่าในอนาคตจะเหลือขยะที่ต้องกำจัดน้อยลง
คุณสุธิศา เกตุรมย์ (คุณครู)
ขยะในชุมชนและโรงเรียนนั้นมีจำนวนมาก จึงต้องปลุกจิตสำนึกและให้ทุกคนตระหนักถึงการคัดแยกขยะผ่านการให้ความรู้ว่าขยะประเภทต่างๆ ควรแยกอย่างไรและต้องทิ้งลงถังขยะไหน
คุณณัฐวุฒิ เฮิงมล (กลุ่มบริหารงานฝ่ายตรวจสอบและงานระบบ สภาอุตสาหกรรม)
ทุกคนต้องรู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนสร้างขยะและเป็นขยะประเภทไหนบ้าง จึงควรแยกประเภทไว้เพื่อให้คนที่มารับขยะไปจัดการต่อสามารถจัดการได้ง่ายขึ้นและไม่เป็นอันตรายต่อพวกเขา
แต่สิ่งที่เป็นปัญหาที่ทำให้คนยังไม่รู้วิธีการแยกหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นหากไม่แยกขยะก็คือ การขาดการสื่อสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะ เช่น วันไหนรถขยะจะมารับขยะประเภทไหน ซึ่งถ้ามีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ในชุมชนมากกว่านี้ก็จะช่วยให้แต่ละครัวเรือนสามารถจัดการกับขยะในครัวเรือนตนได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ถ้ามีแรงจูงใจ เช่น ถ้าครัวเรือนไหนจัดการขยะได้ดีก็จะลดค่าเก็บขยะลง ก็ช่วยให้คนหันมาใส่ใจการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางได้มากขึ้น
คุณชณัฐ วุฒิวิกัยการ (KongGreenGreen: Influencer ด้านสิ่งแวดล้อมและการคัดแยกขยะ)
ทุกคนมีความอยากจะทำประโยชน์ให้สังคม เพียงแต่ที่ผ่านมาสถานการณ์อาจไม่เอื้ออำนวย เพราะไม่มีผู้นำ ไม่มีคนชวน ไม่มีคนมาให้ข้อมูลที่ถูกต้อง แต่พักหลังเริ่มมีคนออกมาให้ความรู้มากขึ้น รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลก็ง่ายขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น คนในภาคเอกชนก็ยอมแบ่งปันและจัดสรรพื้นที่เพื่อเอื้อประโยชน์ด้านการจัดการขยะมากขึ้น เช่น มีจุดรับทิ้งขยะแต่ละประเภทตามห้างฯ และปั๊มน้ำมัน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยและเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการได้ความรู้มากขึ้น มีความสะดวกมากขึ้น มีคนทำเป็นตัวอย่างให้เห็นและร่วมมือกันมากขึ้น
คุณภัทรนันท์ คำศิรินันท์ (นักศึกษา คณะวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล)
สิ่งที่จูงใจในการคัดแยกขยะน่าจะเป็นจิตสำนึกของแต่ละคน และการมองเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดตามมาในอนาคตว่าจะส่งผลอย่างไรต่อตัวเรา สังคม และโลกใบนี้
คุณณัฐวุฒิ เฮิงมล (กลุ่มบริหารงานฝ่ายตรวจสอบและงานระบบ สภาอุตสาหกรรม)
ขยะเกิดจากคน คนจึงควรเข้าใจว่าขยะที่ตนสร้างส่งผลกระทบอย่างไรได้บ้าง เนื่องจากทุกวันนี้คนสร้างขยะโดยไม่รู้ว่ามีมูลค่าในการจัดการอยู่ อันดับแรกจึงต้องทำให้พวกเขารู้ก่อนว่าพวกเขานั่นแหละเป็นคนทำให้เกิดขยะ ก็จะต้องเสียค่าจัดการขยะ แต่ถ้าไม่จัดการหรือจัดการไม่ถูกต้องก็จะมีบทลงโทษเพื่อให้มีการจัดการที่ดีขึ้น
คุณนันทิวัต ธรรมหทัย (ผอ. องค์กรสัมพันธ์การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า ประเทศไทย)
ถ้าทุกคนตระหนักว่าเราต้องช่วยกันรักษาโลกใบนี้ที่เป็นของเรา โดยไม่ต้องรอให้ใครบังคับ เราก็จะสามารถเริ่มแยกขยะด้วยตัวเองได้ แต่การจะให้ทุกคนคิดเหมือนกันทั้งหมดก็อาจจะเป็นไปไม่ได้ จึงอาจมีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเข้ามาเป็นเครื่องมือทำให้ทุกคนใช้ยึดถือร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ก่อนการออกกฎหมายก็ต้องพิจารณาก่อนว่าส่วนไหนควรต้องใช้กฎหมาย ส่วนไหนต้องใช้การรณรงค์ ส่วนไหนที่เป็นการทำงานร่วมกันของภาคประชาชนในชุมชนโดยที่ไม่ต้องออกกฎหมาย เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายอาจจะทำได้ลำบากในภาพใหญ่
คุณชณัฐ วุฒิวิกัยการ (KongGreenGreen: Influencer ด้านสิ่งแวดล้อมและการคัดแยกขยะ)
ที่ญี่ปุ่นมีการแบ่งถุงขยะแยกสีตามประเภทขยะ นอกจากนี้ยังมีการใช้ความรู้เพิ่มเติมผ่านโปสเตอร์และคู่มือว่าขยะเผาได้ เผาไม่ได้ ขยะรีไซเคิลมีอะไรบ้าง ต้องใช้ถุงสีอะไร พอเจ้าหน้าที่เก็บไปแล้วจะนำไปทำอะไรต่อ รวมถึงมีปฏิทินในการมารับขยะแต่ละประเภทด้วย ซึ่งทำให้ระบบการจัดการขยะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
“การมีกฎระเบียบบังคับใช้อย่างเคร่งครัดและกำหนดปลายทางของขยะอย่างชัดเจนว่าทิ้งแล้วจะนำขยะแต่ละประเภทไปทำอะไรต่อ จะทำให้คนรู้สึกเต็มใจที่จะแยกขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างถูกต้อง” – คุณชณัฐ วุฒิวิกัยการ (KongGreenGreen: Influencer ด้านสิ่งแวดล้อมและการคัดแยกขยะ)
คุณสุธิศา เกตุรมย์ (คุณครู)
ควรมีข้อตกลงหรือมาตรการร่วมกัน รวมถึงปลุกจิตสำนึกเรื่องการคัดแยกขยะแก่เยาวชนไปเรื่อยๆ จนพวกเขาซึมซับไปเองจนกลายเป็นนิสัยและเป็นแบบอย่างให้คนอื่นได้
คุณนิลุบล นุ่มสกุล (ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย)
ก่อนจะออกเป็นกฎหมายได้ ควรให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะแก่ประชาชนก่อน รวมถึงชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับตัวกฎหมายและบทลงโทษให้ชัดเจน
คุณณัฐวุฒิ เฮิงมล (กลุ่มบริหารงานฝ่ายตรวจสอบและงานระบบ สภาอุตสาหกรรม)
หากมีข้อบ่งชี้ว่าสิ่งที่ทำมีประโยชน์กับตัวเองจริงๆ หรือสิ่งนั้นเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ด้วยพฤติกรรมคนไทยที่ค่อนข้างจะปรับเปลี่ยนได้ง่ายก็พร้อมจะลงมือทำ
คุณนันทิวัต ธรรมหทัย (ผอ. องค์กรสัมพันธ์การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า ประเทศไทย)
แนวปฏิบัติหลายอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ที่มีระบบการจัดการขยะที่ดีนั้นไม่ได้เกิดขึ้นภายในปีสองปีหรือเดือนสองเดือน แต่เกิดมาจากการรณรงค์และการออกกฎหมาย จนสุดท้ายก็กลายมาเป็นบรรทัดฐานของสังคมที่ทุกคนปฏิบัติร่วมกัน จึงต้องทำความเข้าใจว่าบริบทของประเทศไทยกับประเทศเหล่านั้นไม่เหมือนกัน
“ปัจจัยที่เป็นตัวชี้ว่าคนจะแยกขยะได้หรือไม่ก็คือ ต้องทำให้การแยกขยะเป็นเรื่องง่ายก่อน โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการคัดแยกและทิ้งขยะอย่างชัดเจนว่าถังขยะใบไหนควรจะทิ้งอะไร เพราะถ้าทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ก็มีโอกาสที่คนจะปฏิบัติตาม” – คุณนันทิวัต ธรรมหทัย (ผอ. องค์กรสัมพันธ์การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า ประเทศไทย)
คุณชณัฐ วุฒิวิกัยการ (KongGreenGreen: Influencer ด้านสิ่งแวดล้อมและการคัดแยกขยะ)
ที่ ต.แม่ฟ้าหลวง จ. เชียงราย มีระบบแยกขยะดีมากๆ โดยไม่มีหลุมขยะฝังกลบ (landfill) เลย อาจเป็นเพราะว่ามีโครงการพัฒนาดอยตุงที่เป็นหน่วยช่วยดูแลเรื่องการจัดการขยะด้วย ซึ่งถือเป็นตัวอย่างของการเริ่มจาก unit เล็กๆ ที่ทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ
แต่ถ้าเป็นในระบบใหญ่ระดับประเทศนั้น ก็ต้องเริ่มจากการกำหนดปลายทางของขยะให้ชัดเจนก่อน เพราะทุกวันนี้ มีขยะที่ไปจบลงที่บ่อขยะฝังกลบ เฉพาะที่กรุงเทพฯ ก็ 80% แล้ว ส่วนขยะที่นำมารีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ได้ใหม่ได้มีเพียงประมาณ 10% เท่านั้น ซึ่งนั่นไม่ได้เรียกว่าการจัดการขยะด้วยซ้ำไป แต่เรียกว่า การผลักภาระออกไปให้ไปกองอยู่เป็นภูเขาขยะ แล้วรอว่าจะมีใครมาใช้ประโยชน์ต่อ
ขณะเดียวกันก็ต้องมองที่ต้นทางของขยะด้วย โดยส่งเสริมให้ผู้ผลิตและผู้ขายมีความรับผิดชอบมากขึ้น ผ่านการคิดและออกแบบว่าจะผลิตสิ่งที่ไม่ต้องกลายเป็นขยะจำนวนมาก (reduce before recycle) รวมถึงต้องรับผิดชอบเอาของเสียหรือขยะที่เกิดขึ้นหลังการบริโภคกลับคืนไปด้วย ซึ่งหลายๆ แบรนด์ก็เริ่มทำแล้ว เช่น แบรนด์เครื่องสำอางที่เริ่มเปิดจุดรับคืนบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปรีไซเคิลใหม่
คุณภัทรนันท์ คำศิรินันท์: นักศึกษา คณะวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล
คนไทยบางส่วนไม่ได้ให้ความสนใจในการทำความสะอาดขยะบรรจุภัณฑ์ก่อนคัดแยกและทิ้ง โดยมองแค่ว่านั่นคือขยะ ทิ้งไปก็จบแล้ว สุดท้ายรถขยะก็ต้องนำไปกำจัดอยู่ดี นั่นคือปัญหาที่ค่อนข้างจะแก้ได้ยาก ความเป็นไปได้ที่คนไทยจะทำความสะอาดก่อนคัดแยกและทิ้งจึงน่าจะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก
มุมมองของผู้บริโภคแต่ละท่านที่ยกตัวอย่างมานี้อาจจะมีบางประเด็นที่เห็นไม่ตรงกัน เช่น ความเป็นไปได้ในการปรับพฤติกรรมของคนไทย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เชื่อว่าทุกท่านก็อยากเห็นประเทศไทยมีระบบการจัดการขยะที่ดีขึ้น ซึ่งผู้บริโภคทุกคนไม่ว่าจะอยู่ไหนตำแหน่งงานไหนก็สามารถเริ่มที่ตัวเองได้ผ่านการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเท่าที่จะทำได้ จนเป็นความเคยชิน และกลายเป็นนิสัยไปในที่สุด
แล้วคุณล่ะ คิดเห็นอย่างไรกันบ้างคะ?
ฟังพอดแคสต์ EPR Series: เปิดมุมมองของผู้บริโภคเข้าสู่โลกแห่งการคัดแยก ได้ที่
น้ำดื่มกระป๋องยอดขายกว่า 2 หมื่นล้านบาท กำลังเป็นที่จับตามองในฐานะแบรนด์สุดกล้าบ้าบิ่นที่มีภาพลักษณ์ดิบเถื่อน แต่ได้รับการยอมรับอย่างล้นหลาม
การรณรงค์ให้ผู้บริโภคพกถุงผ้าและลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกอาจไม่เพียงพอ ผู้ผลิตเองที่มีส่วนสำคัญในการสร้างขยะและมลพิษต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน
ขยะในประเทศไทยส่งผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อยเลย เราควรจะแก้ปัญหานี้อย่างไร มีวิธีการใดที่จะนำมาใช้ได้ และภาคส่วนไหนที่ต้องรับผิดชอบบ้าง?