เปิดมุมมอง... ภาคเอกชน รวมพลทำ EPR

ในวันนี้ที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกยกให้เป็นปัญหาระดับโลก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกคนต่างก็เป็นต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น!

และจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะ มลพิษทั้งทางน้ำและอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เป็นต้น ล้วนแล้วแต่กระทบต่อทุกคนโดยตรง จึงทำให้ความต้องการในมุมของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป โดยการมองหาสินค้าที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น เพื่อลดปัญหาของเสียจากการบริโภคที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ลดน้อยลงที่สุด 

ขณะที่ผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนมุมมองแล้ว ผู้ผลิตล่ะเริ่มทำอะไรแล้วบ้าง?

เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้ผลิต ผู้ผลิตควรจะต้องปรับตัวอย่างไร จำเป็นต้องรวมกลุ่มกันไหม แล้วมีแนวทางอะไรที่จะใช้เป็นแนวทางได้? Aluminium Loop ชวนผู้อ่านไปหาคำตอบกันได้ในบทสัมภาษณ์จาก คุณนภดล ศิวะบุตร ประธานคณะทำงานพัฒนากลไกการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วที่ TIPMSE หรือสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วออกจากขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ปริมาณบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วในกองขยะทั่วประเทศลดลงด้วยวิธีที่ปลอดภัยและเหมาะสม ภายใต้แนวคิด “บรรจุภัณฑ์ไม่ใช่ขยะ” คัดแยกก่อนทิ้ง

ขยะที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้นั้นมีหลายประเภท ทั้งขยะเศษอาหาร ขยะอันตราย ขยะติดเชื้อ ขยะบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น โดยที่ขยะบรรจุภัณฑ์เป็นขยะประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นจำนวนมาก และภาคอุตสาหกรรมไทยก็กำลังตื่นตัวเรื่องขยะบรรจุภัณฑ์ที่เกิดขึ้นนี้ เพราะก็ถือเป็นความรับผิดชอบส่วนหนึ่งของผู้ผลิตด้วย 

ความตื่นตัวที่เกิดขึ้นนี้ยังเริ่มมาจากการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่มีความต้องการสินค้ารักษ์โลกด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ภาคเอกชนหรือผู้ผลิตต้องหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงจังมากขึ้นผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ จากผู้ผลิต Material ไปจนถึงผู้ที่ทำหน้าที่จัดการขยะ ทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับความคิดใหม่ และทำใหม่ ซึ่งทุกคนก็ยินดีที่ภาคเอกชนจะเข้ามาเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเรื่องการจัดการ ขยะบรรจุภัณฑ์ เพราะจะให้เป็นหน้าที่ของรัฐฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ 

การที่ภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนนี้ ก็สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ไม่มากก็น้อย เพราะภาคเอกชนสามารถพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผ่านการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นใหม่ได้ ซึ่งยังทำให้มีการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการบริหารจัดการขยะให้ดีขึ้นได้จากการออกแบบใหม่ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาครัฐก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน โดยจะเป็นตัวช่วยสนับสนุนในด้านเครื่องมือ และกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ต้องมีกฎหมายรองรับ

หลักการที่ภาคเอกชนไทยใช้ในการขับเคลื่อนเรื่องการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ในตอนนี้ก็คือ “EPR (Extended Producer Responsibility)” หรือหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่างๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ จากเดิมที่ผลิตและขายแล้วก็จบไป แต่ขยายความรับผิดชอบให้ครอบคลุมไปจนถึงหลังการใช้งานของผู้บริโภคด้วย โดยผู้ผลิตต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงหลังการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบ การกระจายสินค้า การเก็บรวบรวมและการรับคืนเพื่อนำไปรีไซเคิลหรือใช้ซ้ำ 

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังไม่ได้มีการบังคับใช้หลักการ EPR แบบจริงจัง แต่ยังเป็นภาคสมัครใจอยู่ เนื่องด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น พฤติกรรมของผู้บริโภค ความพร้อมของผู้ผลิต สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นต้น ที่ยังจำเป็นต้องปรับให้เหมาะสมก่อน ระยะเวลาในการดำเนินการใช้หลักการ EPR ในประเทศไทยนั้นจึงถือว่ายังไม่ได้ช้าจนเกินไป ยิ่งไปกว่านั้น เรายังโชคดีที่มีบางระบบที่เอื้ออำนวยอยู่แล้ว เช่น การเก็บขยะของซาเล้งที่ประเทศอื่นที่ใช้ระบบ EPR ไม่มี เป็นต้น นั่นเท่ากับว่าเราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่มีต้นทุนระดับหนึ่ง เพียงแต่ต่อจากนี้จะต้องมีการพูดคุยร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อคนที่ทำอยู่แล้ว โดยจำเป็นจะต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น และที่สำคัญต้องมีกฎหมายรองรับสำหรับซาเล้งและคนรับซื้อของเก่า เพื่อให้ทุกคนได้รับผลประโยชน์เท่าเทียมกัน

สิ่งสำคัญในการนำหลักการ EPR มาใช้ก็คือจะต้องมีความเข้าใจในหลักการนี้ก่อนว่ามีข้อดี ข้อเสีย และวิธีการใช้ที่ถูกต้องอย่างไร ดังนั้นแล้ว ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา TIPMSE และผู้ที่เกี่ยวข้องจึงพยายามทำความเข้าใจกระบวนการ EPR ในแง่ของหลักการก่อน โดยยังไม่ได้ลงลึกเป็นขั้นตอนต่างๆ แต่ก็โชคดีที่รัฐบาลไทยได้รับนโยบาย BCG (ฺBio Economy, Circular Economy, Green Economy) มาใช้ ซึ่ง EPR ก็เป็นส่วนสำคัญของ Circular Economy ที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป โดยภาครัฐก็ได้ยอมรับ EPR เข้าไปในระดับนโยบายแล้ว ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงของการศึกษาข้อมูล และเชิญชวนภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

EPR จะต้องบริหารโดยภาคเอกชน โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงออกกฎระเบียบและขอบเขตการทำงานให้

สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ จะต้องปรับหลักการ EPR ให้เหมาะสมกับบริบทสังคมไทยที่ก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ กรุงเทพกับต่างจังหวัดก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นส่วนที่ยากและท้าทายมากที่สุด และน่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี ต่อจากนี้เป็นต้นไป

และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน จึงอาจมีการเก็บค่าธรรมเนียม EPR โดยแบ่งแยกตามความยากง่ายในการรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์ เพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ง่ายขึ้น ซึ่งเดี๋ยวนี้หลายๆ บริษัทก็มีการทำ Packagind Design เพื่อวิเคราะห์ว่า End of Life ของบรรจุภัณฑ์นั้นเป็นอย่างไร เมื่อสิ้นสุดการใช้งานแล้วจะไปไหนต่อ สามารถรีไซเคิลได้ไหม

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาชน…

ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งก็คือการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของประชาชนในเรื่องการจัดการขยะหลังการบริโภค เพราะขยะที่ทิ้งจากครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นการทิ้งแบบรวม ทำให้วัสดุที่อาจจะมีราคาอยู่ต้องด้อยราคาไปเพราะสกปรก ซึ่งต้องมีการคุยกับภาคประชาชนให้เข้าใจให้ได้ว่าการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางจากครัวเรือนนั้นทำแล้วได้อะไร ถ้าไม่ทำแล้วเกิดผลกระทบอย่างไร และโน้วน้าวให้เกิดการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมได้ในที่สุด

ในการปรับพฤติกรรมการทิ้งขยะของผู้บริโภคในครัวเรือนนั้น บางครั้งการออกกฎหมายก็ไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนซะทีเดียว ถ้าทุกคนยังมองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ ในทางกลับกัน เราต้องมองว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่สามารถทำได้ โดยที่รัฐมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกด้านอุปกรณ์จัดเก็บ เช่น ถังขยะสีต่างๆ ตามประเภทขยะ เป็นต้น

การทิ้งขยะรวมกันทำให้ขยะบางชิ้นที่อาจมีค่าสกปรกไปด้วยจนแยกออกมาได้ยาก คนแยกขยะก็ทำงานยาก ดังนั้น การแยกขยะตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นคำตอบที่จะช่วยได้

การบังคับใช้กฎหมายควรจะเป็นตอนจบมากกว่า และกฎหมายก็ใช้สำหรับคนที่ไม่สนอะไรเลยซึ่งเป็นส่วนน้อย เชื่อว่าคนส่วนใหญ่พร้อมที่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ไม่มีเครื่องมือหรือไกด์นำทาง

โครงการ Pack Back… เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน ส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน EPR ในพื้นที่นำร่อง

หลังจากการพยายามศึกษาเรื่อง EPR เพื่อใช้ในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว ปัจจุบันได้มีการเริ่มทดลองใช้ EPR ในพื้นที่นำร่องที่ จ.ชลบุรี ณ เทศบาลแสนสุข, บ้านบึง และเกาะสีชัง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน และยังมีความหลากหลายทั้งเป็นเมืองท่องเที่ยวและเมืองอุตสาหกรรม รวมถึงมีสถานศึกษาอยู่ด้วย โดยการทดลองในพื้นที่ครั้งนี้ก็เพื่อจะถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นจากการใช้ใช้หลักการ EPR ในพื้นที่จริง ซึ่งต้องรอดูผลลัพธ์กันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร…

ฟังบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=CDi2DEJCO3o

Facebook
Twitter
LinkedIn

บทความที่เกี่ยวข้อง

กระป๋องอลูมิเนียมมีสีจะรีไซเคิลได้จริงไหม?

กระป๋องอลูมิเนียมบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่ได้ขึ้นชื่อว่าสามารถรีไซเคิลได้ทุกส่วน แต่สีบนตัวกระป๋องมีผลต่อการรีไซเคิลด้วยไหม

อ่านต่อ