EPR คืออะไร? และใครที่เกี่ยวข้อง

ขยะอาจจะดูเป็นเรื่องที่ out of sight, out of mind ทิ้งไปแล้วก็จบ แต่หารู้ไม่ว่าถ้าเราไม่ได้จัดการมันให้ถูกต้องแล้ว ผลกระทบที่ตามมาอาจจะหลอกหลอนพวกเราอย่างไม่จบสิ้น แต่ถ้าหากเราจัดการได้อย่างถูกต้อง ขยะเหล่านั้นก็อาจจะได้วนกลับมาสร้างประโยชน์ให้เราได้ไม่จบไม่สิ้นเช่นกัน แล้วอะไรจะเป็นตัวช่วยผลักดันให้เกิดการจัดการขยะที่ดีล่ะ?

วันนี้ Aluminium Loop จะชวนทุกคนมาเจาะลึกเรื่องขยะผ่านมุมมองของ ดร. สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะมาเชื่อมโยงหลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) หรือหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังทุกช่วงชีวิตของบรรจุภัณฑ์กับการจัดการขยะ

ในบทความนี้คุณจะได้เรียนรู้เรื่องการนำระบบ EPR มาใช้ในประเทศไทย มีประเทศไหนเป็นต้นแบบของเราไหม แล้วเราจะเตรียมความพร้อมและปรับใช้ระบบ EPR ในประเทศไทยได้อย่างไร มีภาคส่วนไหนที่เกี่ยวข้องและมีบทบาทสำคัญบ้าง ที่สำคัญคือ EPR กับการจัดการขยะจะเกี่ยวข้องกันอย่างไร ไปหาคำตอบกันเลยค่ะ

สำหรับประเทศไทยนั้นถือว่าเรายังจัดการเรื่องขยะได้ไม่ได้ดีนักและยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่ได้ แต่หากมองไปยังประเทศพัฒนาแล้วอย่างประเทศญี่ปุ่นก็จะเห็นว่ามีการจัดการขยะค่อนข้างดี มีระบบที่ประชาชนต้องทำตามกฎกติกาจนกลายเป็น Social Norm หรือบรรทัดฐานทางสังคม และเพื่อให้ประเทศไทยเป็นแบบนี้ได้ก็จะต้องมีการพัฒนาระบบเพื่อสร้างวินัยของคนไทยในเรื่องการจัดการขยะให้ดีขึ้น โดยเครื่องมือหนึ่งที่น่าสนใจและนำมาใช้ก็คือ EPR (Extended Producer Responsibility) ซึ่งภาพรวมที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับ EPR มานั้น สำหรับในต่างประเทศถ้าจะให้ระบบ EPR นี้มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จได้นั้น มันควรจะต้องออกมาเป็นกฎหมายเพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทและความรับผิดชอบ โดยตัวกฎหมายจะเป็นตัวที่กำหนดและแบ่งบทบาทหน้าที่ของ Stakeholder ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตั้งแต่ต้นทางอย่างผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ผู้ผลิตสินค้า ผู้จัดจำหน่าย ผู้บริโภค รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปจนถึงปลายทางซึ่งก็คือผู้รีไซเคิล กฎหมายจะเข้ามาช่วยจัดระบบระเบียบทั้งหมด แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ถ้าออกเป็นกฎหมายอาจจะออกได้ยากมาก และต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ดังนั้น ในช่วงระยะเริ่มต้นจึงควรจะต้องเป็นภาคสมัครใจก่อนว่าสิ่งที่เราทำมันก็คือการแสดงความรับผิดชอบของภาคเอกชนต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งก็เป็นสิ่งที่มีการทำอยู่แล้วในรูปแบบที่เรียกว่า CSR (Corporate Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร แต่เราแค่ปรับเปลี่ยนมาทำร่วมกันทั้ง Value chain หลายๆ เจ้าให้มันเป็นระบบ EPR

โดยในด้านตัวกฎหมายนั้น เมื่อก่อนกฎหมายจะมีบทบาทอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเก็บขยะ แต่ก็เป็นแค่การเข้าไปกำจัดอย่างถูกวิธีเท่านั้น ในขณะที่ระบบ EPR จะเป็นการกระจายให้ภาคส่วนอื่นเข้ามาช่วยเพื่อแบ่งเบาภาระของท้องถิ่น เพราะขยะมันมีหลายประเภทมาก ขยะบรรจุภัณฑ์นี่ก็ส่วนนึง แต่ก็ยังมีขยะอันตราย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะติดเชื้อ อีกเป็นต้น ท้องถิ่นก็อาจจะรับจัดการทั้งหมดไม่ไหว ระบบ EPR จึงเข้ามาเพื่อแบ่งเบาภาระของท้องถิ่นและกำหนดกฏหมายใหม่

อย่างไรก็ตาม หลักการ EPR ก็ไม่ได้มีระบบที่ตายตัวในแต่ละประเทศ แต่สิ่งสำคัญก็คือการแบ่งบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละภาคส่วน ซึ่งเมื่อกฎหมายกำหนดว่าผู้ผลิตจะต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบ หากมองไปที่เส้นทางการทำงานของภาคส่วนผู้ผลิตนั้น โดยทั่วไปก็จะพุ่งเป้าไปที่ Filller หรือผู้ที่นำบรรจุภัณฑ์เข้ามาห่อหุ้มสินค้าซึ่งก็จะกลายเป็นผู้รับผิดชอบหลัก แต่ทั้งนี้กฎหมายก็กำหนดว่าผู้ผลิตสามารถรวมกลุ่มแล้วก็ลงขันให้มี Third Party หรือองค์กรตัวแทนผู้ผลิต (PRO: Producer Responsibility Organization) เข้ามาดำเนินการแทนผู้ผลิตได้ ซึ่ง PRO ก็จะเข้ามารับผิดชอบในส่วนที่ถูกกำหนดเพิ่มขึ้นตามกฎหมายอย่างการจัดการซากผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ โดยไปประสานกับห้างหรือผู้จัดจำหน่าย ท้องถิ่น ผู้บริโภค และผู้รีไซเคิล ให้หาวิธีการหรือมาตรการจูงใจที่จะทำให้เกิดระบบ take-back หรือจุด drop off ขึ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะตั้งไว้ตามห้างหรือร้านค้าต่างๆ ส่วนท้องถิ่นก็จะจัดระบบคัดแยกประเภทขยะตามบ้านของผู้บริโภค ผู้บริโภคก็มีหน้าที่ต้องส่งคืนบรรจุภัณฑ์ที่ล้างทำความสะอาดแล้วเข้าสู่ระบบ 

ความท้าทายก็คือการสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคส่งคืนบรรจุภัณฑ์เข้าสู่ระบบ

ในบริบทของประเทศไทยนั้น เราอาจจะต้องใช้แนวทางของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งทุกประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมดก็จะมี Informal Sector หรือกลุ่มซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งก็จะรวมกลุ่มพวกเขาเหล่านี้ให้เข้ามาอยู่ในระบบ EPR ด้วย เหมือนเป็นตัวช่วย เป็นแขนขาให้กับระบบการเก็บรวบรวมขยะ โดยไม่เป็นการทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลัง ขณะเดียวกันก็ต้องเสนอสิทธิประโยชน์จูงใจเพื่อให้พวกเขาเข้าระบบ และแลกกับการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับขยะที่เก็บมาให้มีความโปร่งใสของระบบด้วย นอกจากนี้แนวทางของประเทศกำลังพัฒนาก็จะเอื้อให้ผู้ผลิตมีอิสระในการบริหารจัดการระบบกันเอง เพราะระบบของภาครัฐยังไม่แข็งแรงพอ แต่ภาครัฐจะเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด Free rider หรือผู้ที่ไม่ได้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมในระบบแต่ได้ประโยชน์จากระบบนั้น และบทบาทสำคัญของภาครัฐอีกอย่างหนึ่งก็คือการกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายในการเก็บรวบรวม เพราะถ้าหากให้อิสระกับผู้ผลิตมากเกินไป ผู้ผลิตก็อาจจะทำแบบขอไปทีให้ได้ตามกฎหมายแต่ไม่ได้คิดว่ามันจะต้องทำให้ดีขึ้นหรือดีกว่านั้น ภาครัฐจึงควรเข้ามากำหนดเป้าหมายแบบขั้นบันได โดยในช่วงขั้นแรกๆ ก็กำหนดเป้าหมายการเก็บรวบรวมให้ต้องบรรลุขั้นต่ำไว้ก่อน แล้วพอเริ่มเรียนรู้ระบบได้แล้วก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นไป

โดยการแบ่งความรับผิดชอบในระบบของผู้ผลิตก็จะเป็นไปตามสัดส่วนของการตลาด คือ การจ่ายค่าธรรมเนียมของผู้ผลิตจะเป็นไปตามจำนวนหน่วยบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตและจำหน่ายในตลาด ผู้ผลิตที่มี Market Share สูงในตลาดก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่อหน่วยที่มากกว่า เช่นตัวอย่างของทางยุโรปที่อัตราค่าธรรมเนียมที่จ่ายสำหรับบรรจุภัณฑ์นั้น ส่วนใหญ่แล้วก็น้อยมากๆ ไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ และเพื่อลดค่าธรรมเนียมนี้ ประเด็นสำคัญเลยก็คือต้องทำให้ผู้ผลิตทุกรายเข้ามาร่วมลงขันกันให้เกิดเป็น Economy of scale ให้ได้ เพราะยิ่งรวมทุกเจ้าทุกรายได้ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ก็จะทำให้ผู้ผลิตทั้งหมดสามารถ Share cost ร่วมกันได้ ซึ่ง cost ต่อบริษัทก็จะลดลงไปในภาพรวม แต่สำหรับรายที่เล็กมากๆ คงต้องคุยกันว่าเล็กขนาดไหนที่เราควรจะยกให้เป็นข้อยกเว้นไป

การเตรียมความพร้อมในการนำระบบ EPR มาใช้ในประเทศไทย ในขั้นต้นทุกคนควรจะต้องเข้าใจหลักการ EPR ก่อนว่ามันคืออะไร โดยระบบ EPR จะเป็นการให้ผู้เล่นทุกคนใน Value Chain เข้ามาช่วยกัน ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตอย่างเดียว แม้ว่าชื่อจะเป็น Producer ก็ตาม ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงควรทำความเข้าใจหลักการ EPR อย่างถ่องแท้ก่อน โดยอีกหนึ่งภาคส่วนที่มีความสำคัญมากๆ ก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้เล่นหลักที่แต่เดิมเป็นคนเก็บขยะ ก็ต้องทำความเข้าใจกับหลักการนี้ด้วย แล้วก็มาพูดคุยกับภาคเอกชนว่าจะปรับบทบาทความรับผิดชอบกันยังไง โดยเท่าที่คุยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมา เขาก็ยินดีที่จะให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนด้วย เพราะมีปัญหาสิ่งแวดล้อมเยอะมากที่จะต้องดูแล และอีกเรื่องที่สำคัญมากๆ ก็คือการให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน โดยสอดแทรกไปในการเรียน และฝึกให้เด็กทำกิจกรรม เช่น ธนาคารขยะที่ฝึกให้เด็กเรียนรู้การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง แล้วเชื่อมโยงว่าถ้าไม่ทำแล้วจะเกิดผลกระทบอย่างไร การปลูกฝังตรงนี้มันก็จะยั่งยืนในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นสิ่งจูงใจให้ทำที่บ้านเพิ่มเติมได้ด้วย อันนี้ก็คือใช้ตัวเด็กเป็นสื่อในการแยกขยะ

ในขณะที่ผู้บริโภคคนไทยเองก็ควรจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะให้มีวินัยมากขึ้น โดยสิ่งที่ต้องคำนึงเป็นหลักก็คือการแยกขยะ ซึ่งถ้าจะทำให้มันง่ายก็อยากจะผลักดันให้ผู้ผลิตผลิตถุงขยะที่มันเป็นสีๆ เนื่องจากถุงขยะสีดำก็เป็นอุปสรรคต่อการแยกขยะ ถ้าทำตรงนี้ได้ก็จะช่วยผู้บริโภคได้มากเลย คือต้องทำระบบให้มีการส่งคืนขยะบรรจุภัณฑ์ได้สะดวก ยิ่งถ้าส่งคืนหน้าบ้านได้เลยก็ยิ่งดี หรืออีกทางหนึ่งก็คือการใช้แรงจูงใจทางการเงินเข้ามาช่วย โดยตั้งราคารับซื้อให้แตกต่างไปตามระดับความสะอาดหรือการแยกที่ดี เพื่อให้ผู้บริโภคแยกขยะได้ละเอียดและสะอาดขึ้น หรือสร้างแรงจูงใจที่ไม่ได้เป็นตัวเงินแต่แลกเป็นของใช้เพื่ออุปโภคบริโภคก็ได้ เช่น การจัดกิจกรรมตลาดนัดขยะรีไซเคิล บรรดาซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าก็จะมาเจอผู้บริโภค โดยมีผู้ผลิตเข้ามาเพิ่มแรงจูงใจในการให้แลกของใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ไม่มีมูลค่าที่จะนำไปรีไซเคิลต่อได้ เป็นต้น

จุดแข็งสำคัญของประเทศไทยในการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับระบบ EPR นั้นก็คือ ผู้ประกอบการไทยเองนี่แหละที่มีความตื่นตัวมากๆ ในเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เห็นได้ชัดๆ เลยอย่างเช่นห้างที่ยอมสละพื้นที่อันมีค่าในการเปิดให้เช่า เพื่อตั้งจุด drop off ซึ่งก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน รวมถึงการที่เรามี Informal Sector หรือซาเล้งที่คุ้นเคยกับการแยกขยะรีไซเคิลและขยะบรรจุภัณฑ์อยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องเข้าไปเสริมให้เขาทำได้อย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้น

กล่าวโดยสรุป EPR ถือเป็นหลักการสำคัญในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ แต่เราต้องเติมมาตรการอื่นๆ เข้าไปด้วย โดยส่งเสริมทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ผลิตและบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งถ้าใช้แนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน ก็น่าจะมีกฎหมายแม่บทเรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน แล้วมีกฎหมายลูก EPR เข้ามาช่วยจัดการขยะแต่ละประเภท และที่จะลืมไม่ได้เลยก็คือกฎหมายลูกที่จะส่งเสริมให้ท้องถิ่นจัดการเรื่อง Food waste ด้วย เพราะอาหารก็เป็นตัวการทำให้บรรจุภัณฑ์ปนเปื้อน

สุดท้ายนี้ อยากฝากถึงผู้บริโภคให้เริ่มปรับพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม เช่น การล้างขยะบรรจุภัณฑ์แล้วแยกประเภทให้เรียบร้อยตั้งแต่ที่บ้าน ซึ่งก็เป็นแค่การสละความสะดวกสบายเล็กๆ น้อยๆ ของเราเอง แต่ช่วยโลกได้มาก นอกจากนี้คุณยังสามารถช่วยอุดหนุนสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งก็จะเป็นการสร้างแรงจูงใจและแรงกระตุ้นให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ ทำตามบ้าง รวมถึงช่วยเป็นแนวร่วมในการผลักดันเมื่อมีการเสนอร่างกฎหมายใหม่ที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและประชาชน เพราะสิ่งที่สังคมจะได้รับกลับคืนมานั้นก็คือการรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ใช้ต่อไป


ฟังพอดแคสต์เรื่อง EPR คืออะไร? และใครที่เกี่ยวข้อง แบบเต็มๆ ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=_fzcj_lI8Mw&t=1038s

Facebook
Twitter
LinkedIn

บทความที่เกี่ยวข้อง

กระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วไปไหนต่อ?

เคยสงสัยกันไหมว่ากระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วจะไปไหนต่อ หลายคนทิ้งลงถังขยะโดยไม่รู้ว่ามันจะได้กลับมาเป็นกระป๋องใบใหม่วนลูปให้เราได้ใช้ประโยชน์กัน

อ่านต่อ

กระป๋องเครื่องดื่ม VS กระป๋องสเปรย์

กระป๋องเครื่องดื่มและกระป๋องสเปรย์ที่เราเรียกว่ากระป๋องทั้งคู่นั้น แท้จริงแล้วมีความเหมือนหรือแตกต่างกันไหม? มาหาคำตอบกัน

อ่านต่อ