บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนคืออะไร? ทำไมธุรกิจต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง

ในวันที่เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ “ขยะ” โดยเฉพาะ “ขยะบรรจุภัณฑ์” ซึ่งมีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมากจึงไม่ใช่เรื่องขยะอีกต่อไป แต่กลับเป็นเรื่องใกล้ตัวของทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต

การจะผลักภาระให้ผู้บริโภคจัดการขยะหลังการบริโภคของตนอาจจะไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพเสมอไป หากขยะนั้นยากต่อการจัดการต่อ กลับกัน ผู้ผลิตจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในการรับผิดชอบบรรจุภัณฑ์ของตนตั้งแต่ต้นทาง ถึงจะเป็นการแก้ปัญหาได้ถูกจุดอย่างแท้จริง

การผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนอาจจะตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ได้ แล้วบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน คืออะไร ทำไมธุรกิจต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง รวมถึงแนวโน้มการทำธุรกิจในอนาคตจะเป็นอย่างไร? ไปหาคำตอบกันได้ในบทสัมภาษณ์ คุณสาโรช ชยาวิวัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด และ ดร. สุรศักดิ์ วรรณะพาหุณ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุณภาพและนวัตกรรม BJC Glass ในรายการ Mission to the Moon ซึ่ง Aluminium Loop ได้สรุปประเด็นสำคัญมาให้ดังนี้

บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนคืออะไร? ทำไมธุรกิจต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง
ภาพส่วนหนึ่งจากรายการ Mission to the Moon ตอน บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนคืออะไร? ทำไมธุรกิจต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง

การออกแบบบรรจุภัณฑ์กับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

  • ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสูง ทั้งกระบวนการผลิตและหลังการบริโภค แต่ถ้าเราสามารถเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นน้ำ (การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การเลือกใช้วัตถุดิบ กระบวนการผลิต) และพยายามขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อให้มีการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพผ่านการเก็บกลับ ก็จะสามารถทำธุรกิจที่ยั่งยืนและส่งผลกระทบด้านดีต่อสังคมได้
  • เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ภาคการผลิตจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้น้อยลงทั้งวัตถุดิบและพลังงาน เช่น ใช้วัตถุดิบที่สามารถรีไซเคิลหมุนเวียนได้เรื่อยๆ อย่างอลูมิเนียมและแก้วที่เป็น mono-material รวมถึงใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น โดยต้องแน่ใจว่าวัตถุดิบและพลังงานนั้นมาจากแหล่งที่เหมาะสมและยั่งยืน
กระป๋องอลูมิเนียม บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ไม่รู้จบ
ขวดแก้ว อีกหนึ่งบรรจุภัณฑ์ที่เป็น mono-material

ทำไมเราถึงยังไม่เห็นการแยกขยะที่มีประสิทธิภาพในประเทศไทย?

  • การจัดการขยะในประเทศไทยยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ เนื่องมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างและการขาดความรู้ความเข้าใจของประชาชน
  • เริ่มแรกต้องชี้ให้เห็นก่อนว่าบรรจุภัณฑ์แต่ละชนิดส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร และมีต้นทุนในการจัดการอย่างไร โดยใช้กลไกนี้ผลักดันผู้ผลิตให้รับผิดชอบ ขยะบรรจุภัณฑ์ ที่ตนผลิตตามหลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) หรือการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังทุกช่วงวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์
  • ผู้ผลิตยังมีหน้าที่ให้ความรู้กับประชาชนเรื่องการแยกขยะ แยกขยะแล้วทำให้คุณค่าของขยะเพิ่มขึ้นอย่างไร เพราะถ้าขยะไม่มีค่าคนก็จะไม่สนใจในการแยก

อะไรคือความท้าทายของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบัน?

  • ผู้บริโภคต้องการความจริงใจ (Authenticity) จากผู้ผลิตและแบรนด์ที่ต้องมีความรู้ลึก รู้จริง ทำได้จริง โดยต้องมีข้อมูลรองรับและผู้บริโภคสามารถติดตามข้อมูลนั้นได้
  • ผู้บริโภคต้องการความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงแบรนด์ตื่นตัวเรื่องความยั่งยืนกันมากขึ้น ผู้ผลิตต้องแน่ใจว่าบรรจุภัณฑ์ตนจะสามารถตอบโจทย์เทรนด์และสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไปได้
  • การลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานเป็นโจทย์สำคัญ จะทำอย่างไรให้สามารถหมุนเวียนทรัพยากรและพลังงานเดิมกลับมาใช้ซ้ำได้ 

ขับเคลื่อนสังคม อีกหนึ่งแผนความความยั่งยืน

  • ผู้บริโภคต้องการเห็นว่าผู้ผลิตทำดีต่อสังคมหรือไม่ ถ้าผู้ผลิตขับเคลื่อนตัวเองได้ ก็ต้องดึงสังคมให้เดินหน้าด้วย ถึงจะยั่งยืนอย่างแท้จริง เช่น การดึงประชาชนที่ด้อยโอกาสเข้ามาในระบบผ่านการจ้างงาน หรือเป็นกลไกในการจัดการขยะ เป็นต้น

สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน ขยะก็เป็นเรื่องของทุกคน ภาคการผลิตจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ที่มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ต้องขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนด้วยกัน

ขอบคุณข้อมูลจากรายการ Mission to the Moon EP. 1632 ฟังพอดแคสต์เพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=GJhRYAmr9RM

Facebook
Twitter
LinkedIn

บทความที่เกี่ยวข้อง

9 Series of Aluminium Alloys

อลูมิเนียมเป็นโลหะที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดตัวหนึ่งทั้งในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน อลูมิเนียมเหล่านี้มีความเหมือนและต่างกันอย่างไร มาหาคำตอบกัน

อ่านต่อ

กระป๋องอลูมิเนียมกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

กระป๋องอลูมิเนียม บรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

อ่านต่อ
Liquid Death น้ำดื่มกระป๋องสายดิบเถื่อนที่ยอดขายพุ่งกระฉูด

Liquid Death น้ำดื่มกระป๋องที่เกิดมาเพื่อฆ่า…

น้ำดื่มกระป๋องยอดขายกว่า 2 หมื่นล้านบาท กำลังเป็นที่จับตามองในฐานะแบรนด์สุดกล้าบ้าบิ่นที่มีภาพลักษณ์ดิบเถื่อน แต่ได้รับการยอมรับอย่างล้นหลาม

อ่านต่อ