คุยเฟื่องเรื่องยั่งยืน
ตอน โอลิมปิกที่ยั่งยืน

แม้แต่ “Tokyo Olympic 2020” ก็ยังมุ่งสู่ “ความยั่งยืน”

“Tokyo Olympic 2020” ที่ประเทศญี่ปุ่นในขณะนี้ได้อ่านการออกแบบและดำเนินการต่างๆ โดยยึดมั่นในหลักการของการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด เพราะทุกดีไซน์ต่างให้ความสำคัญต่อเรื่องของ “การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

เริ่มตั้งแต่โลโก้ มาสคอต คบเพลิง แท่นยืนรับเหรียญรางวัล เหรียญรางวัล เสื้อผ้านักกีฬา จนถึงหมู่บ้านนักกีฬา และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ

หลายเรื่องได้แสดงถึงวิถีชีวิตแบบ New Normal ด้วย อาทิ การตัดสินรางวัลสำหรับตัวมาสคอตของโอลิมปิกในครั้งนี้ก็ตัดสินโดยคณะกรรมการ “เด็ก” เพราะมีแนวความคิดว่าเด็กเหล่านั้นจะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่อไป

แท่นรับเหรียญรางวัลก็สร้างจากขวดพลาสติกที่ใส่น้ำยาซักผ้าเป็นแสนๆ ขวดนำมารีไซเคิลใหม่

“คบเพลิง” ก็ทำมาจากอลูมิเนียมรีไซเคิลที่มีส่วนบนสุด (จุดติดไฟ) เป็นหน้าตัดที่มีลักษณะเป็นดอกซากุระ 5 กลีบ

เสื้อผ้าของนักกีฬาที่ถือคบเพลิงก็มาจากการรีไซเคิลขวดพลาสติก

เหรียญรางวัลทั้งเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ก็มาจากโทรศัพท์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์เก่ามากกว่า 6 ล้านเครื่องที่นำมาหลอมละลายรีไซเคิลใหม่ แม้แต่สายคล้องคอเหรียญรางวัลก็มาจากเส้นใยที่ผ่านการรีไซเคิลแล้ว

เรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดก็คือ “หมู่บ้านนักกีฬา” ที่มีขนาดพื้นที่ประมาณ 5,300 ตารางเมตร โดยใช้ไม้เก่ามากกว่า 4 พันท่อน ซึ่งรวบรวมจาก 63 เมืองของประเทศญี่ปุ่น ไม้แต่ละท่อนจะมีตราประทับว่ามาจากเมืองไหน เพื่อจะได้ส่งกลับได้ถูกหลังจากจบงานแข่งขันโอลิมปิก เพื่อที่ท้องถิ่นจะได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้

ส่วนเตียงนอนทั้งหมดในหมู่บ้านนักกีฬาก็มาจากการรีไซเคิลไม้ฮาร์ดบอร์ดน้ำหนักเบาที่สามารถถอดและประกอบได้ง่าย

แนวความคิดนี้ยังรวมถึง “ชุดกิโมโนประจำชาติ” ที่นางงามหลายสิบคนสวมใส่ บนผ้ากิโมโนจะมีภาพวาดของเอกลักษณ์และสัญลักษณ์สำคัญประจำชาติที่ร่วมแข่งขันกีฬาซึ่งทำให้ชุดกิโมโนงามสง่ามากขึ้นด้วย

ทั้งหมดทั้งปวงของงานระดับโลก “Tokyo Olympic 2020” ที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวหรือ Story ของญี่ปุ่นที่มีความละเอียดอ่อนและมีความหมายลึกซึ้ง ซึ่งสามารถผสมผสานความทันสมัยและวัฒนธรรมเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน โดยยึดปรัชญาที่เป็นเบื้องหลังการออกแบบก็คือ “Hope” ซึ่งเป็น “ความหวัง” ของโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่ยั่งยืน

หลายปีมานี้ องค์กรสหประชาชาติก็ได้กำหนดแนวทางสำหรับเป้าหมายของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals: SDGs) รวมทั้งหมด 17 ข้อ ซึ่งครอบคลุมเกือบทุกมิติที่สำคัญๆ ของการอยู่ร่วมกันของชาวโลก คือตั้งแต่มิติด้านคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ รวมถึงการร่วมกันพัฒนาของประเทศต่างๆ ตามกรอบ 17 ข้อของ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

นอกจากนี้ยังได้กำหนดหลักปฏิบัติสำหรับ “การลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ” (Responsible Investment) โดยเน้นให้ทุกภาคส่วนและนักลงทุนให้ความสำคัญต่อการนำประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environment) เศรษฐกิจ (Economic) สังคม (Society) และธรรมมาภิบาล (Governance) ผนวกรวมเข้าไปในขั้นตอนของการตัดสินใจลงทุนและการดำเนินกิจการต่างๆ ต่อไป

การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนจึงมักอาศัยแนวความคิดของ “3R”  คือการลดใช้ (Reduce) การเพิ่มการใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เป็นจุดเริ่มต้นในโครงการต่างๆ ที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Biological) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) หรือ “BCG โมเดล” เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ทุกวันนี้ กิจกรรมต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อโลกของเรา จึงต้องยึดมั่นในหลักการของ “ความยั่งยืน” เป็นที่ตั้ง ภายใต้แนวความคิดของคำว่า “Green” และ “Sustainability” ครับผม!

Facebook
Twitter
LinkedIn

บทความที่เกี่ยวข้อง

คุยเฟื่องเรื่องยั่งยืน: อย่ามัวแต่รู้แล้วเฉย

ทรัพยากรที่ลดน้อยลงทำให้ผู้คนต้องคิดทบทวนเกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคมากขึ้น วันนี้ของพวกเราจึงต้องร่วมด้วยช่วยกันอย่างจริงจัง

อ่านต่อ

LCA กับวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์

วงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์มีส่วนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลายภาคส่วนกำลังแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อช่วยโลกเราจากผลกระทบที่เกิดขึ้น

อ่านต่อ