กระป๋องอลูมิเนียมตอบโจทย์ SDGs ข้อไหนบ้าง?

SDGs คืออะไร? หลายคนน่าจะเคยเห็นคำนี้กันมาบ้างแล้ว เพราะกระแสโลกในปัจจุบันที่มุ่งไปสู่ทิศทางของ การพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่จะยั่งยืนได้อย่างไรนั้น ต้องไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ SDGs กันก่อนเลยค่ะ

SDGs หรือ “Sustainable Development Goals” คือเป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ทั้ง 193 ประเทศ รวมประเทศไทยที่เป็นสมาชิกด้วย ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) เพื่อทำให้โลกดีขึ้นภายในปี 2030 

การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) นั้นคือแนวทางการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง (Brundtland Report, 1987)

การจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ก็ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ความครอบคลุมทางสังคม (Social Inclusion) การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection)

องค์ประกอบ 3 ด้านนี้ สะท้อนถึงความเป็น “เสาหลักของมิติความยั่งยืน” (Three Pillars of Sustainability) คือ มิติด้านสังคม (People), เศรษฐกิจ (Prosperity) และสิ่งแวดล้อม (Planet) อย่างไรก็ตาม ยังมีอีก 2 ด้านที่สำคัญซึ่งจะช่วยเชื่อมทุกมิติของความยั่งยืนไว้ด้วยกัน นั่นก็คือ มิติด้านสันติภาพและสถาบัน (Peace) และมิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) รวมเป็น 5 มิติ (5Ps) โดยแต่ละมิติจะครอบคลุมเป้าหมายการพัฒนาจาก 17 เป้าหมายแตกต่างกันไป ดังนี้ 

  • People (มิติด้านสังคม): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 1 ถึงเป้าหมายที่ 5
  • Prosperity (มิติด้านเศรษฐกิจ): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 7 ถึงเป้าหมายที่ 11
  • Planet (มิติด้านสิ่งแวดล้อม): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 6 และเป้าหมายที่ 12 ถึงเป้าหมายที่ 15
  • Peace (มิติด้านสันติภาพและสถาบัน): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 16
  • Partnership (มิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนา): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 17

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นั้นถือว่าเป็นเป้าหมายที่เน้นการพัฒนาอย่างครอบคลุม (Inclusive) มุ่งการเปลี่ยนแปลง (Transformative) และบูรณาการ (Integrated) ที่ทุกประเทศต่างมีโจทย์ที่จะต้องนำไปปฏิบัติแตกต่างกันไป 

การพัฒนาประเทศให้สอดคล้องไปกับ SDGs (Sustainable Development Goals) ไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของรัฐบาลเท่านั้น แต่ภาคเอกชนเองก็มีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาไปอย่างยั่งยืนได้ โดยเฉพาะผู้ผลิตที่มีบทบาทในการกำหนดการบริโภคของประชาชนในประเทศ และยังเป็นสาเหตุหลักของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากมาย ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมมาเรื่อยๆ จนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน รวมถึงสร้างขยะจากทั้งกระบวนการผลิตและจากผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ต่อได้ นั่นทำให้ผู้ผลิตต้องเปลี่ยนมุมมองในการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของตนให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็สร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจ โดยที่สังคมก็ยังได้ประโยชน์

วันนี้ Aluminium Loop จะชวนผู้อ่านทุกคนไปเจาะลึกถึงธุรกิจผลิตกระป๋องอลูมิเนียมว่าในมุมของผู้ผลิตนั้นคำนึงถึง SDGs (Sustainable Development Goals) อย่างไร และตอบโจทย์เป้าหมายข้อไหนได้บ้าง?

เป้าหมายข้อที่ 1 ขจัดความยากจน: กระป๋องอลูมิเนียมผลิตจาก Mono-material ทำให้ง่ายต่อการรีไซเคิล โดยไม่ต้องแยกวัสดุอื่นออกก่อน กระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วจึงเป็นที่ต้องการสูง และขายได้ราคาดีเมื่อเทียบกับขยะบรรจุภัณฑ์อื่น ซึ่งสามารถช่วยสร้างงานสร้างรายได้ในการเป็นผู้เก็บและรับซื้อขยะรีไซเคิลให้กับบรรดาซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่ารายย่อยได้

ป้าหมายข้อที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี: ในการผลิตกระป๋องอลูมิเนียมนั้น ความปลอดภัยต่อผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในความปลอดภัย เมื่อบรรจุเครื่องดื่มแล้ว บรรจุภัณฑ์กระป๋องอลูมิเนียมจะมีการปิดฝากระป๋องอย่างแน่นหนาเพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากภายนอก อีกทั้งภายในกระป๋องยังมีการเคลือบด้วยสารเคลือบ food grade ซึ่งช่วยป้องกันการทำปฏิกิริยาระหว่างเครื่องดื่มกับโลหะ (ตัวกระป๋อง) โดยเป็นสารเคลือบที่ปลอดภัยต่อเครื่องดื่ม และไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

เป้าหมายข้อที่ 6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล: นอกจากน้ำอัดลมและเบียร์ที่เรามักจะคุ้นเคยว่าบรรจุในกระป๋องอลูมิเนียมแล้วนั้น ปัจจุบันยังมีเครื่องดื่มอื่นๆ อีกที่เลือกกระป๋องอลูมิเนียมเป็นบรรจุภัณฑ์ เช่น น้ำวิตามิน ชา นม รวมถึงน้ำเปล่าด้วย ดังนั้น กระป๋องอลูมิเนียมจึงเป็นบรรจุภัณฑ์หนึ่งที่จะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัยได้ ในขณะเดียวกัน การใช้น้ำในกระบวนการผลิตนั้นก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของมลพิษทางสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยน้ำเสียที่ไม่มีการบำบัดก่อน รวมไปถึงการใช้น้ำอย่างสิ้นเปลืองอันนำมาซึ่งปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและยั่งยืน ผู้ผลิตจึงได้ใช้แนวทางจัดการน้ำด้วยหลักการ 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) โดยการลดการใช้ การนำกลับมาใช้ซ้ำ และการปรับปรุงเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ 

เป้าหมายข้อที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ: เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทรัพยากรด้านบุคคลก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน และการผลิตกระป๋องอลูมิเนียมนั้นก็ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นบรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งกำลังเป็นเทรนด์สำคัญในปัจจุบัน นั่นยังทำให้มีการจ้างงานอย่างเต็มที่โดยไม่แบ่งชนชั้น โดยที่พนักงานทุกคนจะได้เป็นส่วนหนึ่งในความเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันกับองค์กร

เป้าหมายข้อที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน: การผลิตกระป๋องอลูมิเนียมในปัจจุบันนั้นถือว่าใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่ามาก เพราะกระป๋องอลูมิเนียมที่ผ่านการบริโภคแล้วสามารถรีไซเคิลกลับมาเป็นกระป๋องอลูมิเนียมใบใหม่ได้เรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบ กระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วจึงไม่กลายเป็นขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เรียกได้ว่าเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง และลดการถลุงแร่ในการใช้ทรัพยากรใหม่ลงไปได้เยอะเลย ในขณะเดียวกันผู้ผลิตเองก็ขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความยั่งยืนด้วยกันผ่านการให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะ สนับสนุนให้เกิดการคัดแยกที่ต้นทาง เพื่อให้ขยะเหล่านั้นได้กลับมาเป็นทรัพยากรมีคุณค่า

เป้าหมายข้อที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ในกระบวนการผลิตขนาดใหญ่ที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นตัวการของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลยนั้นอาจจะทำได้ยาก แต่ก็สามารถทำให้ลดลงได้ด้วยการใช้พลังงานทางเลือกอย่างพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในกระบวนการผลิตทดแทนการใช้เชื้อเพลิงที่สร้างมลภาวะต่อโลก

เป้าหมายข้อที่ 14 ทรัพยากรทางทะเล: กระป๋องอลูมิเนียมสามารถรีไซเคิลทุกชิ้นส่วนได้ 100% จึงลดโอกาสในการกลายเป็นขยะไร้ประโยชน์ที่อาจจะหลุดรอดไปเป็นมลพิษในทะเลได้ ในขณะเดียวกัน ในประเทศไทยก็เริ่มมีโปรแกรมเก็บกลับกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้ว เช่น โครงการ Aluminium Loop Recyclig Program ที่จะติดตามขยะกระป๋องอลูมิเนียมที่ถูกทิ้ง ณ จุดรับทิ้ง ให้สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นกระป๋องใบใหม่ต่อไปได้ไม่รู้จบ

เป้าหมายข้อที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน: ในการผลิตกระป๋องอลูมิเนียมที่ใส่ใจต่อความยั่งยืน จำเป็นต้องร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้เก็บรวบรวมกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้ว ผู้รีไซเคิล และผู้ผลิตวัตถุดิบอลูมิเนียม โดยในประเทศไทยนั้นเรามีห่วงโซ่อุปทานเหล่านี้อยู่ครบทั้งหมด นั่นจึงทำให้ลูปการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมสามารถทำได้อย่างครบวงจรภายในประเทศ หรือเรียกว่า Aluminium Can Closed-Loop Recycling ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งของความร่วมมือในการระดมทรัพยากรภายในประเทศได้อย่างดีเยี่ยม 

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับภาครัฐ สมาคม และหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น ความร่วมมือส่งเสริมการผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่สามารถรีไซเคิลได้ ระหว่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษ, มหาวิทยาลัยมหิดล, มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (3R), สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย, บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด, บริษัท ยูเอซีเจ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แองโกล เอเซีย เทรดดิ้ง จำกัด เพื่อสนับสนุนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสามารถนำบรรจุภัณฑ์นั้นๆ กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ และเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยใช้กลไกประชารัฐอันเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน ในการส่งเสริมการผลิตและการบริโภค รวมถึงการจัดการขยะอย่างยั่งยืน

กระป๋องอลูมิเนียมบรรจุเครื่องดื่มที่คุณรู้จักกันอาจจะแค่ซ่า สดชื่น เย็นเร็ว แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือกระป๋องอลูมิเนียมสามารถรีไซเคิลได้ทุกส่วนแบบ 100% ให้กระป๋องสามารถกลับมาเป็นกระป๋องใบใหม่ได้อย่างไม่รู้จบ นี่คือสิ่งที่ผู้ผลิตพยายามให้ความรู้แก่ผู้บริโภค เพื่อให้สามารถจัดการกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วได้อย่างถูกต้อง

ด้วยตัวบรรจุภัณฑ์เองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกระบวนการผลิตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด รวมถึงการให้ความรู้กับผู้บริโภคในเรื่องการจัดการขยะ การส่งเสริมการจ้างงาน และการกระจายรายได้ในสังคม นั่นแสดงถึงความใส่ใจในด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมของผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ซึ่งสามารถนำไปสู่ความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจได้

ขอบคุณข้อมูลจาก บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด ผู้ผลิตกระป๋องอลูมิเนียมและฝาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

อ้างอิง
– สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เกี่ยวกับ SDGs
https://sdgs.nesdc.go.th/%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a-sdgs/
– SDG Move, ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ SDGs
https://www.sdgmove.com/intro-to-sdgs/
Facebook
Twitter
LinkedIn

บทความที่เกี่ยวข้อง

ครบ 1 ปี The TreeCycle of Joy

The TreeCycle of Joy ต้นคริสต์มาสรักษ์โลกจากกระป๋องอลูมิเนียมรีไซเคิลกว่า 10,000 กระป๋อง เคยจัดแสดงอยู่บริเวณลานหน้า Siam Discovery

อ่านต่อ