"แนวคิดสังคมแห่งการบริโภคอย่างยั่งยืน" คืออะไร?
แล้วคุณจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร

ในยุคที่ทรัพยากรธรรมชาติเริ่มหมดไปในอัตราที่น่าตกใจ ประกอบด้วยปัญหาขยะต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีทีท่าจะลดลง ภาคการผลิตต่างก็หาวิธีที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นให้คุ้มค่าที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด ซึ่งการแก้ปัญหาควรจะต้องร่วมด้วยช่วยกันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ผู้บริโภคเองในฐานะที่เป็นผู้ใช้ทรัพยากรอันมีค่านั้น จำเป็นต้องเริ่มตระหนักถึงประเด็นปัญหาดังกล่าว และเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินชีวิตแบบใหม่ๆ เพื่อร่วมสร้างสังคมแห่งการบริโภคอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

 

ก่อนอื่นเรามาทำความความเข้าใจกันก่อนว่าแนวคิดสังคมแห่งการบริโภคอย่างยั่งยืนคืออะไร?

การบริโภคอย่างยั่งยืน คือ การบริโภคสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการที่จำเป็นต่อชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบริโภคอย่างพอดีและให้เหลือทิ้งน้อยที่สุด ซึ่งเป็นการลดผลกระทบเชิงลบทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่กระทบต่อความสามารถในการสนองความต้องการบริโภคสิ่งที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป เป้าหมายสูงสุดของการบริโภคอย่างยั่งยืนจึงเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทั้งในรุ่นปัจจุบันและอนาคต โดยคำนึงถึงสภาวะที่มีอยู่อย่างจำกัดของทรัพยากรที่ต้องสงวนไว้ใช้ประโยชน์และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น¹

 

ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการบริโภคอย่างยั่งยืนเท่าที่ควร เพื่อสร้างการรับรู้และการเปลี่ยนแปลง เราขอยกแนวคิดการบริโภคอย่างยั่งยืนให้ดูใน 3 ประการ ดังนี้

 

  1. การปรับพฤติกรรมการบริโภคให้เป็นไปอย่างพอดี

การบริโภคอย่างพอดีไม่ใช่การบริโภคให้น้อยลง แต่เป็นการบริโภคเพื่อสนองความต้องการในทางที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น (ทั้งคนในรุ่นปัจจุบันและอนาคต) และสร้างของเสียหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

กระบวนการบริโภคอย่างพอดีนี้เริ่มตั้งแต่การตัดสินใจเลือกซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในด้านทรัพยากรที่ต้องมีเหลือไว้ให้คนรุ่นต่อไปใช้ด้วย ทั้งนี้ผู้บริโภคจะต้องมีความรู้และข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจเลือก และตระหนักได้ถึงความสำคัญของการบริโภคอย่างยั่งยืนก่อนเป็นลำดับแรก

 

  1. การส่งเสริมการผลิตให้มีประสิทธิภาพและเกิดการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่

การบริโภคที่ยั่งยืนต้องดำเนินควบคู่ไปกับการผลิต ที่ยั่งยืน การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคการผลิตให้ใส่ใจการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่ผู้ผลิตเองก็สามารถเริ่มต้นแนวคิดการผลิตที่ยั่งยืนได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องรอดูพฤติกรรมผู้บริโภคก่อนเสมอไป

การผลิตที่มีประสิทธิภาพจึงตั้งอยู่ภายใต้แนวคิดของการผลิตอย่างยั่งยืนเพื่อให้กระบวนการผลิตมุ่งตอบสนองความต้องการที่จำเป็นโดยไม่สร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมและพร้อมที่จะสร้างการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิผลการผลิต และการจัดการของเสียหลังการใช้

 

  1. การให้ความรู้และส่งเสริมการตลาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในความท้าทายของการสร้างสังคมแห่งการบริโภคอย่างยั่งยืน คือการให้ความรู้อย่างทั่วถึง เนื่องจากผู้บริโภคและแม้แต่ผู้ผลิตเองอาจจะยังขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องนี้อยู่ รวมถึงการขาดแรงจูงใจที่จะทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยเช่นกัน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องช่วยกันให้ความรู้แก่ผู้บริโภค ดังแนวทางตามตัวอย่างต่อไปนี้

  • การจัดเวิร์กชอปให้ความรู้และกระตุ้นให้ผู้บริโภคได้ลงมือทำในกิจกรรมการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เวิร์กชอปให้ความรู้เรื่องชนิดวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ต่างๆ และขั้นตอนการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมารีไซเคิลใหม่
  • การสร้างแคมเปญการตลาดของสินค้าและบริการต่างๆ โดยมุ่งไปที่การสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด เช่น การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้ผลิตต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าเหตุผลในการปรับเปลี่ยนคืออะไร เปลี่ยนแล้วดีอย่างไร และผู้บริโภคได้อะไรจากการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ หากผู้ผลิตมีความจริงใจและให้คุณค่ากับการปรับเปลี่ยนนั้นๆ พอ ผู้บริโภคจะรับรู้ถึงคุณค่าและเข้าไปมีส่วนร่วมในแคมเปญได้เองโดยไม่ต้องพึ่งโปรโมชันใดๆ 
  • สนับสนุนให้เกิดกฏหมายเพื่อผลักดันให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร เช่น “Extended Producer Responsibility (EPR)” ซึ่งเป็นหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต กฏหมายตัวนี้สามารถเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ภาครัฐจะนำมาประยุกต์ เพื่อใช้เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การออกแบบ การกระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อีกทั้งยังสามารถใช้สร้างการตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคถึงปัญหาของของบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ หลังบริโภคแล้ว²

แล้วคุณจะมีส่วนร่วมในสังคมแห่งการบริโภคอย่างยั่งยืนได้อย่างไร?

การตื่นตัวเรื่องปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้กระจายวงกว้างไปในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาคการผลิต สื่อ และผู้บริโภค ดังนั้น คุณเองในฐานะผู้บริโภคก็สามารถมีส่วนร่วมแก้ปัญหานี้ได้อย่างเต็มที่ ด้วยการเข้าไปมีบทบาทในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามแนวทางที่หลากหลายดังต่อไปนี้  

 

  1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคส่วนตัว 

ก่อนอื่น ผู้บริโภคต้องตระหนักว่าพฤติกรรมการบริโภคของคุณส่งผลต่อหลายระบบ ทั้งระบบสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ระบบการผลิตก็ตาม พฤติกรรมการบริโภคของคุณจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ สำหรับแนวคิดเรื่องสังคมแห่งการบริโภคอย่างยั่งยืนนั้น คุณสามารถมีส่วนร่วมได้โดยการคำนึงถึงคุณค่าของสินค้าและบริการ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อคุณตระหนักได้เช่นนั้น คุณก็จะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของคุณได้ เช่น การซื้อและบริโภคเท่าที่จำเป็น, ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ยากหรือใช้ได้ครั้งเดียว, คัดแยกขยะเพื่อให้ง่ายต่อการกำจัดและรีไซเคิลต่อไป เป็นต้น

 

  1. สนับสนุนธุรกิจที่มีนโยบายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

พฤติกรรมผู้บริโภคเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการวางแผนการผลิตและแผนทางการตลาด การตอบสนองต่อสินค้าและบริการของคุณจึงส่งผลต่อธุรกิจได้โดยตรง สำหรับธุรกิจสายกรีนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนนั้น โดยรวมแล้วมักจะได้ใจผู้บริโภคไปเต็มๆ เพราะผู้บริโภคเล็งเห็นว่า ธุรกิจเหล่านี้มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ผู้บริโภคจึงควรสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการหรือภาคการผลิตมีกำลังใจในการทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคมต่อไป ซึ่งคุณสามารถมีส่วนในการสนับสนุนนี้ได้ง่ายๆ เช่น สนับสนุนธุรกิจที่ใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานที่ได้จากธรมชาติในขั้นตอนการผลิต, ซื้อสินค้าจากร้านที่ใช้วัตถุดิบย่อยสลายง่ายและนำกลับมาใช้ซ้ำได้, ใช้บริการขนส่งที่ประหยัดพลังงานที่สุดและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ เป็นต้น

 

  1. สร้างการรับรู้ในเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืนให้แก่คนอื่น

เราอยากให้ผู้บริโภคทุกคนตระหนักว่าตัวคุณเองก็สามารถเป็นสื่อได้ โดยไม่ต้องรอการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานที่รับผิดชอบเสมอไป ดังนั้นแล้ว เมื่อคุณมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักได้ถึงความสำคัญของการบริโภคอย่างยั่งยืน คุณก็สามารถถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้แก่ผู้อื่นได้ โดยการทำให้เห็นและบอกกล่าวแก่คนอื่นๆ รอบข้าง ทั้งคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ร้านค้าหรือลูกค้าประจำ เช่น แนะนำและให้ข้อมูลสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อโลก บอกถึงข้อดีของบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกต่างๆ เขียนคอนเทนต์แชร์เรื่องไลฟ์สไตล์กรีนๆ เป็นต้น

 

การบริโภคอย่างยั่งยืนมีความเกี่ยวพันกันทั้งในด้านการผลิตและการบริโภคอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ กิจกรรมต่างๆ จากทั้งสองฝ่ายจึงดำเนินไปควบคู่กัน พร้อมด้วยการประชาสัมพันธ์จากสื่อที่เข้ามามีบทบาทในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารและแคมเปญต่างๆ การให้คุณค่าและดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจากทุกฝ่ายในวันนี้จึงเป็นไปเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนทั้งในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคตที่คนรุ่นใหม่ต้องรับช่วงต่อ

 

ในบทความฉบับต่อๆ ไปเราจะมาเล่าถึง EPR (Extended Producer Responsibility) หรือ หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจและเห็นภาพมากขึ้นว่าเราจะสามารถสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นจริงในประเทศได้อย่างไร ต้องรอติดตามกันนะคะ

อ้างอิง
¹ Scpdatacenter, ระบบฐานข้อมูลการผลิต การบริการและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  https://bit.ly/3fbdirQ
  Pakkretcity, วารสารคาร์บอนต่ำ เมืองที่มีการบริโภคอย่างยั่งยืน
  https://www.pakkretcity.go.th/book/upload/b093/II/#zoom=z
² Green Peace, “Extended Producer Responsibility (EPR)”, 2020
  https://www.greenpeace.org/thailand/story/18369/plastic-infographic-extended-producer-responsibility/
Facebook
Twitter
LinkedIn

บทความที่เกี่ยวข้อง

คุยเฟื่องเรื่องยั่งยืน: อย่ามัวแต่รู้แล้วเฉย

ทรัพยากรที่ลดน้อยลงทำให้ผู้คนต้องคิดทบทวนเกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคมากขึ้น วันนี้ของพวกเราจึงต้องร่วมด้วยช่วยกันอย่างจริงจัง

อ่านต่อ

ส่องมุมมองประเทศไทย ในการทำ EPR

ขยะในประเทศไทยส่งผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อยเลย เราควรจะแก้ปัญหานี้อย่างไร มีวิธีการใดที่จะนำมาใช้ได้ และภาคส่วนไหนที่ต้องรับผิดชอบบ้าง?

อ่านต่อ

แนวคิดสังคมแห่งการบริโภคอย่างยั่งยืน

แนวคิดสังคมแห่งการบริโภคอย่างยั่งยืนคืออะไร แล้วตัวคุณเองจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร มาร่วมเรียนรู้เพื่อความยั่งยืนของโลกใบนี้ไปด้วยกัน

อ่านต่อ