Aluminium Loop ออกบูธงาน Sustainability Expo (SX) 2023
Aluminium Loop ออกบูธงาน SX2023 ให้ความรู้เรื่องกระป๋องอลูมิเนียมกับการขับเคลื่อนความยั่งยืน โดยการรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์และสิ่งแวดล้อม
หลายคนคงจะเห็นผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์หลายแบรนด์ในปัจจุบันที่ปรับเปลี่ยนให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือบางแบรนด์ก็ออกแคมเปญชวนผู้บริโภคทำกิจกรรมรักษ์โลก ซึ่งก็ทำให้ได้ใจผู้บริโภคสายกรีนไปเต็มๆ แล้วทำไมแบรนด์ผู้ผลิตเหล่านี้ถึงเลือกที่จะเปลี่ยนล่ะ?
เพราะแค่การรณรงค์ให้ผู้บริโภคพกถุงผ้าและลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกอาจจะไม่เพียงพอต่อการเยียวยารักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ผู้ผลิตเองที่มีส่วนสำคัญในการสร้างขยะและมลพิษจากกระบวนการผลิตและของเสียหลังการบริโภคจากผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของตัวเอง จึงต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยเช่นกัน
ในบทความนี้จะมุ่งประเด็นไปที่บทบาทของผู้ผลิตที่ไม่ใช่แค่ผลิตผลิตภัณฑ์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องรับผิดชอบตลอดทั้งวงจรของผลิตภัณฑ์ด้วย โดยยกประเด็นสำคัญมาจากบทสัมภาษณ์ของ ดร. กิติพงศ์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการ สอวช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ในหัวข้อ “EPR ชื่อนี้มีดีต่อประเทศอย่างไร?” และ ดร. วิจารณ์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และประธาน Thai SCP Network (Thai Sustainable Consumption and Production Network) หรือเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “Circular Economy กับการหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์”
เริ่มแรกเรามาทำความเข้าใจหลักการ EPR กันก่อนเลย…
EPR (Extended Producer Responsibility) หรือการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตขึ้น ซึ่งจากเดิมที่ผลิตและขายแล้วก็จบไป แต่ขยายความรับผิดชอบให้ครอบคลุมไปจนถึงหลังการใช้งานของผู้บริโภคด้วย
หลักการ EPR นี้เป็นนโยบายที่เริ่มขึ้นในยุโรป เพื่อแก้ปัญหาเรื่องของเสียของผลิตภัณฑ์ เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซากรถเก่า เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ผลิตลดมลภาวะและทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต ตลอดจนยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ให้นานขึ้น โดยผู้ผลิตจะต้องเริ่มคิดตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความคงทนในการใช้งานด้วยการปรับปรุงการออกแบบและอาจมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงการหาวิธีการเก็บกลับผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว พอเก็บกลับได้แล้วก็ต้องคิดว่าจะสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือนำเข้ากระบวนการรีไซเคิลเพื่อผลิตใหม่ได้อย่างไร ซึ่งนั่นก็ถือเป็นการตอบโจทย์หลักการ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ส่งเสริมให้ผู้ผลิตใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าด้วยเช่นกัน
โดยเมื่อมีการใช้หลักการ EPR ใน Scale ที่ใหญ่และทำให้ได้ทั่วประเทศแล้ว สิ่งที่ต้องทำให้เกิดผลอีกอย่างนึงก็คือ การทำให้เกิดมาตรฐานของประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับ Global Value Chain ยกตัวอย่างเช่น การออกกำหนดมาตรฐานของสินค้า Circular Economy, กำหนดมาตรฐานของวัสดุที่จะนำมาใช้รีไซเคิล, การวางกรอบกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ Circular Economy เป็นต้น ที่ก็ต้องแฟร์กับคนทั้งระบบ และก็ต้องเป็นที่ยอมรับได้ โดยสังคมส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ด้วย
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องสนับสนุนต่อไปหลังจากทำให้เกิดการใช้หลักการ EPR ใน Scale ที่ใหญ่ขึ้นแล้วนั้น ก็คือการทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็นธุรกิจสีเขียว ซึ่งก็จะต่อยอดให้มีการจ้างงานในรูปแบบ Green Employment เพิ่มขึ้นต่อไป
นอกจากการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลักแล้ว อีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญก็คือการจัดการของเสียหลังการบริโภค ซึ่งจะเห็นว่าของเสียประเภทขยะบรรจุภัณฑ์นั้นมีจำนวนเยอะมากและใกล้ตัวเราที่สุด คำถามคือจะทำอย่างไรให้บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ถูกทิ้งอย่างถูกวิธีและถูกที่เพื่อนำไปจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือนำไปรีไซเคิลได้ใหม่ เพื่อให้ทรัพยากรเหล่านั้นได้ถูกนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกครั้ง
ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาถุงพลาสติกนั้น รัฐบาลไทยก็ได้ออกมาตรการขอความร่วมมือจากห้างร้านต่างๆ ให้งดแจกถุงพลาสติกและรณรงค์ให้ประชาชนใช้ถุงผ้าแทน โดยประชาชนก็เริ่มปรับตัวจนน่าจะคุ้นเคยกันบ้างแล้ว อาจจะไม่ใช่ความคุ้นเคยจากการพกถุงผ้า แต่เป็นการตระหนักว่าเราจะเลิกใช้ถุงพลาสติกหรือใช้ให้น้อยที่สุด ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเริ่มเข้าใจว่าพลาสติกนั้นเป็นปัญหา
ส่วนในมุมของผู้ผลิตหรือภาคเอกชนนั้นก็มีการผลักดันให้เกิดการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหาช่องทางการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคที่จะช่วยสนับสนุนเรื่องการจัดการบรรจุภัณฑ์ให้เข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่น โครงการ Aluminium Loop ที่รณรงค์ให้เกิดการเก็บกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล, โครงการเปลี่ยนขวดสีให้เป็นขวดใสเพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิลที่ไทยนำทิพย์และหาดทิพย์ทำอยู่, โครงการ “วน”, โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน เป็นต้น ซึ่งนั่นก็สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของผู้ผลิตและภาคเอกชนในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อน Circular Economy โดยการจัดการบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้มากขึ้น
สิ่งสำคัญก็คือ การวางระบบการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างครบวงจรทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้จัดจำหน่ายอย่างร้านค้าและห้างต่างๆ เพราะต้องมองถึงกระบวนการทั้งวงจรของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ เริ่มตั้งแต่ต้นทางไปจนกระทั่งสุดทาง หรือ MFA (Material Flow Analysis) ซึ่งในระหว่างทางก็มีนวัตกรรมต่างๆ มาเป็นตัวช่วยด้วย เช่น Packaging Innovation เช่น การยืดอายุการใช้งาน ความสามารถในการรีไซเคิลรูปแบบต่างๆ หรือความสามารถในการทำ Closed-loop recycling ก็คือการนำวัตถุดิบตัวนั้นกลับมาเป็นวัตถุดิบตัวเดิมได้ใหม่อีกครั้ง เช่น แก้ว อลูมิเนียม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การมีข้อกำหนดหรือสัญลักษณ์ที่ชัดเจนก็เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้การเก็บกลับทำได้ง่ายขึ้น เช่น การใส่เครื่องหมายรีไซเคิลพร้อมตัวเลขตามประเภทของพลาสติกกำกับไว้ที่บรรจุภัณฑ์พลาสติกต่างๆ จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถทิ้งขยะได้ถูกถัง และทราบว่าขยะในถังนั้นจะส่งกลับไปที่ไหนได้บ้าง ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเก็บกลับและนำขยะบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับเข้าสู่เส้นทางรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการตระหนักรู้ในเรื่องของการคัดแยกขยะบรรจุภัณฑ์ให้แก่ทุกคนในสังคมก็สำคัญมากๆ เช่นกัน และถึงแม้ว่าการรณรงค์อาจจะไม่ได้ผลซะทีเดียว แต่ถ้ามองในระยะยาว การปลูกฝังความรู้ความเข้าใจก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำคู่ขนานกันไปเรื่อยๆ โดยเริ่มปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กๆ จากครอบครัวและสถาบันการศึกษา ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ เด็กเล็กที่ต้องทำให้ซึมเข้าไปภายในจิตใจ โดยมีการสร้างสถานการณ์ให้เห็นเป็นภาพจำหรือเป็น Mindset ต่อมาก็คือเด็กมัธยมและมหาลัย ที่ต้องให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องความแตกต่างของประเภทบรรจุภัณฑ์และระบบการคัดแยกขยะ และสุดท้ายคือวัยทำงานหรือวัยผู้ใหญ่ ที่ต้องทำให้เกิดแรงจูงใจและปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง
การใช้หลักการ EPR ดูจะไม่ได้ง่ายแต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไปในประเทศไทย โดยภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันอย่างเต็มที่ในการคิดวิเคราะห์และทดลองระบบ EPR ให้เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย
และในส่วนของผู้บริโภคเองนั้นก็สามารถมีส่วนร่วมได้ง่ายๆ เช่น การทิ้งขยะบรรจุภัณฑ์ที่จุด Drop Off หรือการช่วยสนับสนุนสินค้า Circular Economy ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งอาจจะเป็น Action เล็กๆ แต่ก็สามารถสร้าง Impact อย่างมหาศาลในการขับเคลื่อน EPR ให้เกิดขึ้นในสังคมและในประเทศของเราอย่างครบวงจรและยั่งยืน
ฟังพอดแคสต์ Pack Back: EPR Series เพิ่มเติมได้ที่
Aluminium Loop ออกบูธงาน SX2023 ให้ความรู้เรื่องกระป๋องอลูมิเนียมกับการขับเคลื่อนความยั่งยืน โดยการรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์และสิ่งแวดล้อม
เส้นทางการจัดการขยะกระป๋องอลูมิเนียมที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการใช้นวัตกรรมเข้ามาชุบชีวิตกระป๋องอลูมิเนียม
แนวคิดสังคมแห่งการบริโภคอย่างยั่งยืนคืออะไร แล้วตัวคุณเองจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร มาร่วมเรียนรู้เพื่อความยั่งยืนของโลกใบนี้ไปด้วยกัน