Recycling Rate และ Recycled Content
คืออะไร ต่างกันอย่างไร?

จากเทรนด์รักษ์โลกที่กำลังมาแรงในปัจจุบันนี้ ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องใส่ใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ในขณะที่การบริโภคของเราก็ยังสร้างขยะจากบรรจุภัณฑ์ต่างๆ อยู่ในทุกๆ วัน เพื่อลดปัญหาขยะที่เกิดขึ้น การเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วไปรีไซเคิลก็ดูจะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดีทีเดียว 

แต่เบื้องหลังการรีไซเคิลนี้ยังมีอะไรที่คุณไม่รู้อีกรึเปล่านะ วันนี้ Aluminium Loop จะมานำเสนอศัพท์สำคัญสองคำที่ผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมควรคำนึงถึง นั่นก็คือ “Recycling Rate” และ “Recycled Content” สองคำนี้สำคัญอย่างไร และต่างกันแค่ไหน ไปหาคำตอบด้วยกันเลยค่ะ 

 

เมื่อขยะที่เราทิ้งไปมีส่วนที่ถูกนำไปรีไซเคิลต่อ เราจะเรียกปริมาณที่นำไปรีไซเคิลนั้นว่า อัตราการเก็บกลับไปรีไซเคิล หรือ Recycling Rate และส่วนที่ไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิลต่อก็มักจะต้องจบลงที่กองขยะ 

โดยขยะบรรจุภัณฑ์ที่มีการเก็บกลับไปรีไซเคิลสูงที่สุดก็คือ กระป๋องอลูมิเนียม โดยในประเทศไทยเองนั้น กระป๋องอลูมิเนียมมี Recycling Rate อยู่ที่ 85%* ซึ่งถือว่าสูงมากทีเดียว เพราะกระป๋องอลูมิเนียมเป็น Mono-material หรือเป็นวัสดุที่ไม่ได้ผสมวัสดุอื่นที่จำเป็นต้องแยกออกก่อนการรีไซเคิล จึงทำให้รีไซเคิลได้ง่าย และในบางประเทศก็มี Recycling Rate ของกระป๋องอลูมิเนียมสูงมากเช่นกัน อย่างเยอรมนีมี Recycling Rate อยู่ที่ 99% สวิสเซอร์แลนด์ 94% และนอร์เวย์ 95% เป็นต้น

*อยู่ในขั้นตอนการศึกษา อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการเก็บกลับครั้งล่าสุดที่ได้มีการเผยแพร่จะเป็นของ TIPMSE ปี 2540 ซึ่งอัตราการเก็บกลับกระป๋องจะอยู่ที่ 99% ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันนี้

ข้อมูล Recycling Rate ของ EU จาก Can Roadmap 2030

ในขณะที่การเก็บกลับไปรีไซเคิลของบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นๆ นั้นมีอัตราที่ต่ำกว่ากระป๋องอลูมิเนียมอยู่มาก ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐฯ ขวดแก้วมี Recycling Rate อยู่ที่ 39.6% และขวดพลาสติก (PET) 20.3% เท่านั้น ซึ่งก็หมายความว่า 20.3% นั้นอาจจะถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อผลิตเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ เป็นข้าวของเครื่องใช้จากพลาสติก หรือแม้กระทั่งเป็นส่วนประกอบของขวด PET ใบใหม่ ในขณะที่อีกเกือบ 80% ของขวดพลาสติกในประเทศอเมริกานั้นต้องไปจบชีวิตลงในกองขยะ ไม่ได้ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ใดๆ ต่อ

ข้อมูล Recycling Rate และ Recycled Content ของอเมริกา จาก The Aluminum Association

มาต่อกันที่คำว่า “Recycled Content” หรือสัดส่วนการใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งหมายถึงการผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิดเดิมที่ผลิตขึ้นใหม่หรือแม้แต่การผลิตผลิตภัณฑ์ตัวใหม่นั้น มีวัสดุรีไซเคิลเป็นส่วนผสมกี่เปอร์เซนต์ ซึ่งยิ่งค่า Recycled Content สูงก็ยิ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าขึ้นเพราะถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ต่อไปได้ยาวขึ้น

สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการใช้วัสดุรีไซเคิลสูงที่สุดก็ยังคงเป็นกระป๋องอลูมิเนียม โดยในประเทศไทยนั้น กระป๋องอลูมิเนียมมี Recycled Content กว่า 65%** ซึ่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่น อย่างข้อมูลในสหรัฐฯ ขวดแก้วมี Recycled Content อยู่ที่ 23% และขวดพลาสติก (PET) 3-10% เท่านั้น ซึ่งในไทยยังคงอยู่ที่ 0% เพราะยังไม่ผ่านกฎหมาย rPET หรือการอนุญาตให้ใช้วัสดุจากขวดพลาสติกรีไซเคิลในการผลิตขวดพลาสติกขึ้นมาใหม่

และเมื่อไม่นานมานี้ประเทศอังกฤษได้เตรียมบังคับใช้กฎหมายสุดโหดอย่าง Plastic Packaging Tax*** โดยบังคับให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าต้องจ่ายภาษีเพิ่ม หากบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นมีส่วนประกอบของพลาสติกรีไซเคิลน้อยกว่า 30% ซึ่งกฎหมายนี้จะส่งเสริมให้พลาสติกรีไซเคิลมีราคาสูงขึ้นและผลักดันกระบวนการรีไซเคิลให้เกิดขึ้นได้ภายในประเทศ

**ข้อมูลจากบริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด

***ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป, กฎหมาย Plastic Packaging Tax ในประเทศอังกฤษ, 2022 https://www.facebook.com/3WheelsUncle/posts/1158326488249455

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับบรรจุภัณฑ์กระป๋องอลูมิเนียมนั้นก็คือ มีการเก็บกลับมารีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นกระป๋องอลูมิเนียมใบใหม่ได้เรื่อยๆ ไม่รู้จบ หรือเรียกว่า Closed-Loop Recycling ในขณะที่บรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นๆ เมื่อเก็บกลับมารีไซเคิลแล้ว ก็อาจจะผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่บรรจุภัณฑ์เดิม หรือถ้าผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์เดิมก็ไม่สามารถทำได้ตลอดไป เพราะคุณภาพจะลดลงไปเรื่อยๆ

Aluminium Loop เองก็สนับสนุนให้เกิดการเก็บกลับกระป๋องอลูมิเนียมมารีไซเคิลด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งจุด Drop off ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกอีกทางหนึ่งแก่ผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเหมือนเรา และเราหวังว่าเมื่อคุณรู้จักข้อดีและเห็นตัวเลขเกี่ยวกับการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมแล้วนั้น คุณจะสามารถตัดสินใจเลือกบริโภคได้อย่างเป็นมิตรกับโลกมากขึ้นนะคะ

Facebook
Twitter
LinkedIn

บทความที่เกี่ยวข้อง

ASI สำคัญกับอุตสาหกรรมอลูมิเนียมอย่างไร?

เพื่อความโปร่งใสในการใช้วัสดุอลูมิเนียมอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีการรับรองอย่าง ASI เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภค

อ่านต่อ

MOU Transparency of Aluminium Can

MOU “Transparency of Aluminium Can Closed-Loop Recycling” เพื่อสนับสนุนการจัดทำระบบรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วแบบครบวงจรในประเทศไทย

อ่านต่อ

MOU Recyclable Beverage Packaging

พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อส่งเสริมการผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่สามารถรีไซเคิลได้ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

อ่านต่อ