LCA กับวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์
วงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์มีส่วนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลายภาคส่วนกำลังแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อช่วยโลกเราจากผลกระทบที่เกิดขึ้น
หลายคนมักจะคุ้นเคยกับคำว่า “Recycle” กันเป็นอย่างดี ทั้งจากถังแยกขยะแต่ละประเภทก็ต้องมีถังสำหรับขยะ รีไซเคิล รวมอยู่ด้วย หรือจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีคำอธิบายว่าทำมาจากวัสดุ รีไซเคิล คุณมักจะเห็นและได้ยินคำว่า Recycle นี้ผ่านตาและผ่านหูในทุกๆ วัน แต่จริงๆ แล้วคุณเข้าใจกระบวนการรีไซเคิลกันถูกต้องหรือเปล่า?
ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากการ Recycle แล้ว ยังมี “Upcycle” และ “Downcycle” ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการวัสดุใช้แล้วและขยะอีกด้วย
3 กระบวนการนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร Aluminium Loop อยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจ เพื่อให้สามารถจัดการกับวัสดุและบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วได้อย่างถูกต้องและรู้คุณค่า
Recycle เป็นการนำวัสดุใช้แล้วไปผ่านกระบวนการเพื่อให้ได้กลับมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นเดิมสำหรับใช้งานต่ออีกครั้ง โดยที่คุณภาพของวัตถุดิบนั้นยังคงเดิม
ไม่ใช่วัสดุทุกชนิดจะสามารถรีไซเคิลได้ 100% และมีเพียงวัสดุไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่สามารถทำได้ นั่นก็คือ อลูมิเนียม แก้ว โลหะ เป็นต้น
การรีไซเคิลวัสดุที่ว่านั้น หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ก็เช่นการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมที่นำกระป๋องใช้แล้วไปเข้าสู่กระบวนการหลอม ขึ้นรูปให้เป็นแท่ง และรีดให้เป็นแผ่นก่อนจะผลิตเป็นกระป๋องใบใหม่ต่อไป โดยที่คุณสมบัตของวัสดุยังมีคุณภาพเหมือนเดิม
นอกจากนี้ การรีไซเคิลวัสดุบางประเภทยังขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัสดุ เช่น การรีไซเคิลกระดาษเพื่อให้ได้เป็นกระดาษสำหรับใช้ประโยชน์ใหม่อีกครั้ง การรีไซเคิลกระดาษสามารถทำซ้ำได้เรื่อยๆ แต่คุณภาพของเส้นใยก็จะลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน อย่างไรก็ตาม คุณภาพที่ลดลงกลับไม่ได้สูญเปล่าแต่อย่างใด แต่ยังคงนำไปรีไซเคิลเป็นกระดาษที่คุณภาพด้อยกว่าอย่างกระดาษกล่องน้ำตาลหรือกระดาษลังได้
การรีไซเคิลจึงเป็นการลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ผ่านการหมุนเวียนทรัพยากรที่มีอยู่แล้วกลับมาใช้ใหม่เรื่อยๆ
ไม่ใช่ว่าวัสดุทุกชนิดจะสามารถใช้ได้ครั้งเดียวแล้วกลายเป็นขยะหรือต้องนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลอย่างเดียวเท่านั้น วัสดุหลายอย่างสามารถเพิ่มมูลค่าผ่านการพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพหรือเรียกว่า “Upcycle” ได้
Upcycle มีที่มาจากแนวคิดเรื่องการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Desige หรือ Eco-Design) ผ่านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด
Upcycle ไม่ใช่การผลิตสิ่งของขึ้นใหม่จากวัสดุใหม่ แต่เป็นการยืดอายุวัสดุที่ผ่านการใช้งานมาแล้วไม่ให้มีจุดจบที่กองขยะเร็วขึ้น ก่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้งานต่างจากเดิม แต่ยังคงไว้ด้วยตัววัสดุเดิมที่ได้รับการออกแบบมาให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กระบวนการ Upcycle นั้นมีความยากง่ายแตกต่างกันไป โดยขึ้นอยู่กับตัววัสดุเองและผลิตภัณฑ์ที่ต้องการทำขึ้นใหม่ ที่สำคัญคือต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างการ Upcycle แบบง่ายๆ ก็เช่น การนำกระป๋องใช้แล้วไปใช้เป็นกระถางต้นไม้ อาจจะมีการตกแต่งให้สวยงามเพิ่มขึ้น หรือกระเป๋าจากเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วก็จะมีกระบวนการในการตัดเย็บเพิ่มขึ้นมา ในขณะที่กระบวนการ Upcycle วัสดุเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่บางอย่างก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และความชำนาญมากหน่อย เช่น โมเดลจำลองจากกระป๋องอลูมิเนียม นาฬิกาจากชิ้นส่วนจักรยาน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการ Upcycle สิ้นสุดการใช้งานแล้วนั้น ส่วนใหญ่ยังสามารถนำไป Recycle ต่อได้อีก เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ Upcycle จากวัสดุอลูมิเนียมที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% เป็นต้น ซึ่งหลังจากรีไซเคิลแล้วก็สามารถนำวัตถุดิบนั้นไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีมูลค่าต่อไปได้อีกเรื่อยๆ
อีกหนึ่งคำที่ทุกคนอาจจะไม่คุ้นเคยกันนั่นก็คือ Downcycle หนึ่งในวิธีจัดการสิ่งของที่ไม่ใช้งานแล้วที่ถึงแม้จะไม่ใช่การเพิ่มมูลค่าแต่ก็เป็นการยืดอายุไม่ให้กลายเป็นขยะเร็วขึ้น
Downcycle อาจจะดูคล้าย Upcycle ตรงที่เป็นการสร้างสิ่งใหม่จากวัสดุของผลิตภัณฑ์เดิม แต่มีความต่างที่คุณภาพของผลิตภัณฑ์ใหม่กลับลดลง และจะลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อทำการ Downcycle หลายๆ ครั้ง จนในที่สุดก็จะไม่สามารถใช้งานวัสดุนั้นต่อไปได้และจบลงที่กองขยะ
วัสดุที่จัดอยู่ในกลุ่ม Downcycle อย่างเห็นได้ชัดเลยก็คือ “พลาสติก” ที่เรามักจะเข้าใจว่าสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ซึ่งมันสามารถนำไปรีไซเคิลได้จริงแต่ทำได้น้อยมาก อีกทั้งกระบวนการในการรีไซเคิลพลาสติกยังใช้พลังงานสูงและปล่อยมลพิษอีกด้วย พลาสติกจึงถูกนำไปเข้าสู่กระบวน Downcycle เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น กระเป๋าและรองเท้าจากขวดพลาสติก ที่ถึงแม้คุณภาพจะลดลงจากวัสดุตั้งต้น แต่นั่นก็ยังมีความเป็นไปได้มากกว่าการรีไซเคิล
จากตัวอย่างกระเป๋าและรองเท้าที่ทำมาจากขวดพลาสติก หลายคนคงคิดว่านั่นเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับตัววัสดุ เพราะราคาแพงขึ้นจากขวดพลาสติกที่เป็นบรรจุภัณฑ์หลายเท่า นั่นจึงต้องเป็นการ Upcycle สิ แต่สุดท้ายแล้ววัสดุพลาสติกนี้จะสามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อีกเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นก็จะหมดอายุการใช้งาน นั่นจึงต้องเป็นการ Downcycle แน่นอน
การให้คำนิยามเรื่องวงจรของขยะหรือวัสดุใช้แล้วจึงขึ้นอยู่กับมุมมองของตัวผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นมาใหม่ หากมองในแง่มูลค่าอาจจะเป็นการ Upcycle แต่หากมองในแง่คุณภาพของวัสดุอาจจะเป็นการ Downcycle ก็ได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสุดท้ายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการ Downcycle จะจบลงที่กองขยะ แต่ก็ถือว่าเป็นการลดขยะและยืดอายุให้วัสดุให้อยู่ได้นานที่สุดวิธีหนึ่ง
การจัดการขยะและสิ่งของเหลือใช้ต่างๆ ไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องใช้วิธีการไหน ขณะเดียวกันคำนิยามที่ใช้เรียกวงจรของวัสดุนั้นๆ ก็ไม่มีความตายตัวว่าจะต้องเรียกว่าอะไร แต่ขึ้นอยู่กับมุมมองและวัตถุประสงค์ของตัววัตถุดิบและการนำไปใช้มากกว่า
เพราะฉะนั้นแล้ว ก่อนที่เราจะเลือกใช้สินค้าอะไรสักอย่าง เราควรคิดตั้งแต่ต้นทางว่าวัสดุที่เราเลือกนั้นสามารถนำไป “Recycle” ได้หรือไม่ หรือมันจะสามารถ “Upcycle” หรือ “Downcycle” ต่อได้ไหม และหากวัสดุนั้นสามารถเป็น “Closed Loop Recycling” หรือการหมุนเวียนทรัพยากรผ่านการรีไซเคิลอย่างไม่รู้จบ ก็จะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจขึ้นไปอีก
แต่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญก็คือ คิดก่อนใช้ ช่วยกันลดขยะ ให้คุณค่ากับวัตถุดิบ และตระหนักถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เราจึงควรมุ่งประเด็นไปที่การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดผ่านกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้ความสำคัญกับ Closed Loop Recycling หรือการหมุนเวียนทรัพยากรผ่านการรีไซเคิลอย่างไม่รู้จบ
หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว Aluminium Loop อยากชวนทุกคนให้ลองพิจารณาขยะทุกชิ้นก่อนทิ้งว่าคุณใช้มันอย่างคุ้มค่าแล้วหรือยัง และจะสามารถให้คุณค่ากับมันต่อไปได้อย่างไร
วงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์มีส่วนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลายภาคส่วนกำลังแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อช่วยโลกเราจากผลกระทบที่เกิดขึ้น
กระป๋องอลูมิเนียมบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่ได้ขึ้นชื่อว่าสามารถรีไซเคิลได้ทุกส่วน แต่สีบนตัวกระป๋องมีผลต่อการรีไซเคิลด้วยไหม
โลหะที่อยู่รอบตัวเราชนิดต่างๆ ราคาขึ้นลงไม่ต่างจากราคาทองเลย รวมถึงราคาของอลูมิเนียมด้วยเช่นกัน ทำไมราคาถึงไม่นิ่ง มาหาคำตอบกัน