ขาเทียมทำมาจากอะไร?
ขา… อวัยวะสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายสามารถทรงตัวและเคลื่อนไหวได้ แต่คงจะลำบากมิใช่น้อยสำหรับผู้พิการที่ “ขาขาด” เพราะการไม่มีขากลายเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต ทางการแพทย์จึงได้มีการคิดค้นและประดิษฐ์ “ขาเทียม” ขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้พิการให้สามารถกลับมาดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติ
สำหรับในประเทศไทยนั้น ใช่ว่าผู้พิการขาขาดทุกคนที่จะได้รับบริการขาเทียม เพราะ “ขาเทียม” เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือที่มีราคาสูงมาก ทำให้ผู้พิการที่ยากไร้ไม่สามารถเข้ารับบริการขาเทียมได้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้จัดตั้งมูลนิธิขาเทียมฯ ขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้พิการขาขาดทุกเชื้อชาติและศาสนา โดยไม่คิดมูลค่า
ในสมัยก่อน “ขาเทียม” ถูกผลิตขึ้นจากขวดนมเปรี้ยวยาคูลท์และห่วงดึงอลูมิเนียมจากฝากระป๋อง (ในอดีตยังมีการใช้กระป๋องเหล็กอยู่มาก และกระป๋องอลูมิเนียมยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย ในขณะที่ห่วงดึงของกระป๋องประเภทใดก็ตามเป็นห่วงอลูมิเนียมทั้งหมด การใช้เฉพาะห่วงดึงจึงสามารถบริจาคได้ง่ายกว่า) แต่ด้วยคุณสมบัติของห่วงดึงอลูมิเนียมที่มีความแข็งแรงและมีความยืดหยุ่นสูง แต่ก็ยังยืดหยุนต่ำกว่าโลหะหลายชนิด จึงอาจทำให้เกิดการผิดรูปเมื่อได้รับแรงบิดได้ มูลนิธิขาเทียมฯ จึงมองหาวัสดุที่แข็งแรงและยืดหยุ่นมากกว่าเพื่อเพิ่มอายุการใช้งานและเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ISO 10328 ซึ่งเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมด้านกายอุปกรณ์เทียม ดังนั้น ขาเทียมจากมูลนิธิขาเทียมฯ ในปัจจุบันจึงผลิตมาจากอลูมิเนียมเกรดสูงและเหล็กกล้าไร้สนิม (หรือสแตนเลสสตีล) ซึ่งมีความยืดหยุ่น เหนียว และแข็งแรงมากกว่าอลูมิเนียมธรรมดา
ส่วนห่วงดึงกระป๋องที่ประชาชนบริจาคมานั้น มูลนิธิขาเทียมฯ ได้นำไปขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และนำเงินที่ได้มาซื้อวัสดุในการผลิตขาเทียมต่อไป เพราะผู้พิการขาขาดทุกคนควรได้ใช้ขาเทียมที่ผลิตจากวัสดุที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล
นอกจากนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างสังคมที่ดีขึ้น โครงการ “เปลี่ยนขยะเป็นบุญ (เมื่อคุณหมุนเวียน) เพื่อมูลนิธิขาเทียมฯ” ขอเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนนำกระป๋องเครื่องดื่มอลูมิเนียมที่ใช้แล้วส่งกลับคืนสู่กระบวนการรีไซเคิล และเปลี่ยนเป็นมูลค่าเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิขาเทียมฯ ต่อไป ซึ่งนอกจากจะได้ช่วยสังคมแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยการคัดแยกกระป๋องไม่ให้เป็นขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจบริจาคกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้ว สามารถบริจาคได้ทั้งใบโดยไม่ต้องแยกห่วงดึง โดยบริจาคได้ตามจุดต่างๆ ดังนี้
– ห้างบิ๊กซี กว่า 190 สาขา
– วงษ์พาณิชย์ทั้ง 5 สาขา ได้แก่ วงษ์พาณิชย์ สุวรรณภูมิ, วงษ์พาณิชย์ ฉลองกรุง, วงษ์พาณิชย์ โคราช ท็อปซีเคร็ต, วงษ์พาณิชย์ ปราจีนบุรี และ วงษ์พาณิชย์ เชียงราย ท็อปซีเคร็ต
– ธนาคารขยะรีไซเคิล ชั้น 1 อาคารกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
– บริจาคผ่านที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่ง ฟรีน้ำหนักไม่เกิน 5 กก./กล่อง ส่งมาที่ โครงการบริจาคอลูมิเนียม เพื่อจัดทำขาเทียมพระราชทาน กรมควบคุมมลพิษ เลขที่ 92 ซอยพหลโยธิน 7 ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโอกาสและชีวิตใหม่ให้แก่ผู้พิการขาขาด และส่งเสริมการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียม บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันนะคะ
ดูพิกัดจุดรับบริจาคกระป๋องอลูมิเนียมได้ที่ https://thaibeveragecan.com/th/recycling-program/
ในปัจจุบัน มูลนิธิขาเทียมฯ ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากห่วงดึงกระป๋องแล้ว แต่คุณยังสามารถทำการบริจาคได้อยู่ โดยสามารถบริจาคกระป๋องอลูมิเนียมได้ทั้งใบ ไม่จำเป็นต้องแยกห่วง เพื่อนำกระป๋องซึ่งสามารถรีไซเคิลได้ทั้งใบไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล และผลิตเป็นกระป๋องใบใหม่ต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง
ขยะรีไซเคิล… ทิ้งแล้วไปไหน?
คุณเคยสงสัยกันมั้ยว่าขยะจะไปไหนต่อหลังจากคุณทิ้งมันไป ขยะเหล่านี้จะสามารถรีไซเคิลได้หรือเปล่า? มาร่วมติดตามเส้นทางของพวกมันด้วยกัน
Aluminium Closed Loop Packaging System Joins Forces for Voluntary EPR
“Aluminium Closed Loop Packaging System” ร่วมประกาศเจตจำนงความร่วมมือดำเนินการ PackBack in Action รวมพลังเดินหน้า EPR Voluntary
Aluminium Loop บน Digital Billboard ณ MRT 18 สถานี
“Can เดียวที่คิดเผื่อโลก” รีไซเคิลจริงทั้งใบ เป็นกระป๋องใบใหม่ซ้ำๆ บน Digital Billboard ณ MRT 18 สถานี ของ Aluminium Loop