คุยเฟื่องเรื่องยั่งยืน
ตอน ทำแล้วยั่งยืนไหม?

เราทุกคนต่างต้องการให้สิ่งที่เรารักเราหวงและเรื่องดีๆ อยู่กับเราตลอดไปอย่าง “ยั่งยืน” เช่น ความสุข ความรัก ความอยู่ดีกินดี เป็นต้น

บ่อยครั้งที่เราถึงกับอธิษฐานขอพรสิ่งศักสิทธ์ว่า “ขอให้รักของเรายั่งยืนนาน” และอื่นๆ อีกมากมาย

ว่าไปแล้ว ผู้คนทั่วไปเข้าใจคำว่า “ยั่งยืน” แตกต่างกันบ้าง  แต่ส่วนใหญ่ก็จะคิดคล้ายๆ กันว่าหมายถึง การอยากให้สิ่งดีๆ อยู่กับเราอย่างยั่งยืนและยาวนานตลอดไป ไม่ล้มหายตายจากไปง่ายๆ  ยิ่งอยู่ได้ชั่วกัปชั่วกัลป์ แบบกาลปวสารเลยยิ่งดี

เรื่องความยั่งยืนนี้  จึงไม่ใช่เรื่องของความรู้สึกทางใจหรือความคิดอ่านแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  แต่ยังหมายรวมถึง ร่างกาย  สุขภาพ  สิ่งของ  เครื่องใช้  และธุรกิจอุตสาหกรรม ที่เราต้องการความยั่งยืนเช่นเดียวกันด้วย

ดังนั้น  ธุรกิจอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ก็คือ ธุรกิจอุตสาหกรรมที่สามารถประกอบกิจการได้ยาวนานหลายสิบปี (ทำมาค้าขายอยู่รอดปลอดภัยตลอดเวลายาวนาน) จนอาจจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องได้นานจนเป็นมรดกตกทอดสู่รุ่นลูกหลาน

นักธุรกิจชาวจีน  ได้อาศัยประสบการณ์ยาวนานของการทำธุรกิจ แล้วสรุปว่า ธุรกิจที่ดี (ยั่งยืน) มักจะอยู่ได้ยาวนานถึง 4 ชั่วคน (ปกติ 1 ชั่วคนเท่ากับ 60 ปี) คือ เจ้าของกิจการมักจะส่งต่อกิจการให้ลูกหลานต่อไปได้ 4 รุ่น (จาก ปู่ – พ่อ – ลูก – หลาน) แต่หลังจากนั้น พอถึงรุ่นที่ 5 (เหลน) ก็มักจะหมดไฟ  เลิกทำต่อ  อาจไปไม่รอดหรือมีอันเป็นไป  หลายรายก็เจ๊งและล้มหายตายจากไปในวงการ หลายรายก็ต้องเริ่มหรือเปลี่ยนเป็นธุรกิจใหม่ๆ

แต่ปรมาจารย์ชาวฝรั่งมักจะใช้ “อายุ 100 ปี” เป็นเกณฑ์ที่แสดงถึงความอยู่รอดและยั่งยืนของธุรกิจอุตสาหกรรม คือ ถ้าธุรกิจอยู่ได้ถึง 100 ปี  ก็น่าจะอยู่รอดปลอดภัยตลอดไปในอนาคต  และประกอบกิจการได้ยาวนานจนชั่วลูกชั่วหลาน

ในหนังสือเรื่อง “Built to Last” ก็ยกตัวอย่างกิจการมากมายที่ทำธุรกิจอยู่เกิน 100 ปี และมีแววว่าจะอยู่ต่อไปอีกยาวนานในอนาคต อาทิ ที่โกนหนวดยินเลตต์  ปากกามองบลังต์ เป็นต้น ส่วนของไทยเราก็มีหลายกิจการที่มีอายุเกิน 100 ปี เช่น โอสถสภา  ธนาคารไทยพาณิชย์  เครือปูนซีเมนต์ไทย เป็นต้น

 

ส่วนความหมายทางวิชาการของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development) ที่เห็นว่า  ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกและมีการอ้างอิงใช้งานกันบ่อยครั้ง ได้แก่

  1. “การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การพัฒนาที่สนองตอบต่อความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ทำให้คนรุ่นต่อไปในอนาคตต้องประนีประนอมยอมลดทอนความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของตนเอง”  The Brundtland Commission (ค.ศ. 1987)
  2. “การพัฒนาที่ยั่งยืน มีลักษณะที่เป็นบูรณาการ คือ ทำให้เกิดเป็นองค์รวม หมายความว่า องค์ประกอบทั้งหลายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาประสานกันครบองค์ และมีลักษณะอีกอย่างหนึ่งคือ มีดุลยภาพ หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ การทำให้กิจกรรมมนุษย์สอดคล้องกับเกณฑ์ของธรรมชาติ” ป.อ. ปยุตโต (2541)

ดังนั้น  ความยั่งยืนที่ยอมรับกันในปัจจุบันจึงเป็นการผนวกเอาแนวความคิดเกี่ยวกับการดูแลรักษาและอนุรักษ์ “ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” เข้าไปเป็นองค์ประกอบสำคัญของการดำรงชีวิตของผู้คน การอยู่ร่วมกันในสังคม  และการประกอบกิจการธุรกิจอุตสาหกรรม  เพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของสังคมโลก

ว่าแต่ว่า  ที่เราทำๆ กันอยู่ทุกวันนี้  นำไปสู่ความยั่งยืนหรือไม่  ครับผม !

Facebook
Twitter
LinkedIn

บทความที่เกี่ยวข้อง

เปิดมุมมองของผู้บริโภคเข้าสู่โลกแห่งการคัดแยก

ผู้บริโภคคือตัวแปลสำคัญในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อให้ขยะได้ไปสู่แหล่งกำจัดขยะที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

อ่านต่อ

MOU Transparency of Aluminium Can

MOU “Transparency of Aluminium Can Closed-Loop Recycling” เพื่อสนับสนุนการจัดทำระบบรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วแบบครบวงจรในประเทศไทย

อ่านต่อ

ผนึกกำลังพันธมิตรรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียม

เส้นทางการจัดการขยะกระป๋องอลูมิเนียมที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการใช้นวัตกรรมเข้ามาชุบชีวิตกระป๋องอลูมิเนียม

อ่านต่อ