วงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์:
ทำไมกฎหมาย EPR ถึงจำเป็น?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมีการบริโภคก็ต้องมีขยะเกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าผู้ผลิตมุ่งมั่นแต่จะผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยไม่ได้คำนึงถึงเลยว่าการจัดการของเสียที่เกิดขึ้นหลังการบริโภคนั้นจะเป็นอย่างไรต่อ ทั้งนี้ มีข้อเท็จจริงที่ทางกลุ่มกรีนพีซ ประเทศไทย ได้ตรวจสอบขยะพลาสติกในจังหวัดเชียงใหม่และชลบุรี พบว่าขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกของผู้ผลิตรายใหญ่มีมากที่สุดเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

รูปแบบธุรกิจดังกล่าว เรียกว่า “Linear Economy” หรือเศรษฐกิจแบบเส้นตรง เป็นการนำทรัพยากรมาผลิตสินค้า และเมื่อใช้ประโยชน์เสร็จแล้วก็จะถูกทิ้งโดยไม่นำกลับมาใช้อีก ซึ่งเราคงจะเห็นผลลัพธ์กันแล้วว่ามันส่งผลกระทบต่อโลกทั้งในด้านการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยและการจัดการขยะจำนวนมหาศาลที่ล้มเหลว

ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่จึงเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว นั่นก็คือ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งมีหลักการสำคัญอยู่ที่การลดการใช้วัตถุดิบใหม่, การคงคุณค่าของผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบหรือวัสดุให้สามารถใช้ได้นานที่สุด และการลดผลกระทบทางลบให้เหลือน้อยที่สุด 

นั่นทำให้ผู้ผลิตต้องเข้าไปมีบทบาทในทุกช่วงของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ จึงเกิดแนวคิด “EPR” ที่จะช่วยผลักดันให้ Circular Economy ขยายวงกว้างออกไป

 

EPR คืออะไร?

EPR (Extended Producer Responsibility) คือ หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่างๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ โดยผู้ผลิตต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงหลังการบริโภค ซึ่งรวมถึงการออกแบบ การกระจายสินค้า การเก็บรวบรวมและการรับคืนเพื่อนำไปรีไซเคิลหรือใช้ซ้ำ ตลอดจนการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว

หลายคนอาจจะคิดว่าแค่จัดการขยะให้เป็นระบบระเบียบ และนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลให้มากที่สุดก็ช่วยได้แล้ว แต่นั่นก็ยังยากที่จะไม่มีขยะหลุดลอดสู่สิ่งแวดล้อมเลย หากผู้ผลิตไม่เข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบตั้งแต่ต้นทาง และที่สำคัญภาระการกำจัดขยะไม่ควรต้องตกมาอยู่ที่ผู้บริโภคเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งผู้บริโภคบางส่วนก็ไม่รู้วิธีการกำจัดขยะที่ถูกต้องด้วยซ้ำไป

ยิ่งไปกว่านั้น การจัดการขยะที่ปลายทางก็กำลังส่งผลย่ำแย่ลงในทุกวัน เพราะขยะส่วนใหญ่เป็นพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ สุดท้ายจึงต้องจบลงที่กองขยะฝังกลบ บ้างก็หลุดลอดลงสู่ทะเล จึงถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนมุมมองจากการมุ่งกำจัดขยะที่ปลายทาง เป็นการใส่ใจในผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทาง ผ่านการออกแบบตัวบรรจุภัณฑ์ที่จะสร้างขยะได้น้อยที่สุด รวมถึงยืดอายุการใช้งานของวัสดุให้ยาวนานยิ่งขึ้น

เพื่อเห็นภาพว่าหลักการ EPR จะนำไปใช้กับสินค้าและบริการได้อย่างไร เรามีตัวอย่างจากต่างประเทศมาให้ดูกันค่ะ

 

เกาหลีใต้

ปัจจุบันเกาหลีใต้วางขายนํ้าดื่มขวดพลาสติกแบบไม่มีฉลากแล้ว โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ได้เริ่มโครงการขอความร่วมมือให้บริษัทผู้ผลิตนํ้าดื่มปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ใหม่โดยเอาฉลากพลาสติกที่ติดอยูข้างขวดออกไปทั้งหมด จนกลายเป็นขวดนํ้าดื่มใสๆ ไม่มีฉลาก ทั้งนี้บริษัทผู้ผลิตหลายรายก็ได้ให้ความร่วมมือด้วยการเปลี่ยนมาใช้การปั๊มนูนลงบนขวดแทน หรือใช้การสลักด้วยแสงเลเซอร์เพื่อลดการใช้ฉลากที่ทำด้วย PVC ลงไป ทำให้จนถึงวันนี้นํ้าดื่มในเกาหลีใต้มีการเปลี่ยนมาใช้ขวดที่ไม่มีฉลากรวม 9 แบรนด์แล้ว 

นี่ก็ถือเป็นการนำหลักการ EPR มาใช้เพื่อลดขยะจากฉลากพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ โดยการยกเลิกชิ้นส่วนประเภทนี้ตั้งแต่ต้นทาง ไม่ให้กลายเป็นขยะไร้ค่าในภายหลัง

 

เยอรมนี

ที่เยอรมนีเองก็มีการใช้ระบบมัดจำคืนเงิน หรือ Deposit Refund System (DRS) สำหรับบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มต่างๆ ที่สามารถใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ โดยที่ฉลากของบรรจุภัณฑ์จะระบุราคาแยกกันระหว่างราคาเครื่องดื่มและราคาบรรจุภัณฑ์ โดยเมื่อผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์มาส่งคืนที่ตู้ RVM (Reverse Vending Machine) สำหรับรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติก หรือคืนบรรจุภัณฑ์เปล่าให้ร้านค้าที่ซื้อไป ผู้บริโภคก็จะได้รับเงินค่าบรรจุภัณฑ์คืน ซึ่งถือเป็นแรงจูงใจในการส่งคืนขยะบรรจุภัณฑ์ถึงผู้ผลิตที่ได้ผลดีมาก

เมื่อย้อนกลับไปดูทิศทางการจัดการบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยก็ถือว่ายังไม่มีความชัดเจนทั้งทางด้านกฎหมายและมาตรการต่างๆ เช่น กฎหมายกำหนดหน้าที่การคัดแยกขยะของประชาชน มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมตามปริมาณขยะที่ทิ้ง มาตรการควบคุมพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นต้น 

ในขณะที่ประเทศอื่นอย่างเยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือแม้แต่กลุ่มประเทศอาเซียนอย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม นั้นได้มีการกำหนดหน้าที่ประชาชนในการลดและคัดแยกขยะอย่างชัดเจนในกฎหมายหลัก (พรบ.) ซึ่งก็ถือเป็นกฎหมายพื้นฐานในกระบวนการกำจัดขยะ

ยิ่งไปกว่านั้นประเทศในอาเซียนอย่างสิงคโปร์และเวียดนามก็จะเริ่มออกกฎหมาย EPR สำหรับบรรจุภัณฑ์ภายใน 2 ปีนี้ แต่สำหรับประเทศไทยเองนั้น หลักการ EPR อยู่ในขั้นที่ยังไม่มีผู้รู้จักมากนัก โดย EPR เชิงสมัครใจโดยผู้ผลิตก็อยู่ในขั้นตอนเพิ่งเริ่มต้นหารือกันเท่านั้น ในขณะที่ทั่วโลกมีระบบ EPR สำหรับบรรจุภัณฑ์ 65 แห่งแล้ว โดย 45 แห่งเป็นรูปแบบ EPR ภาคบังคับ

‘โควิด-19’ ทำ ‘ขยะพลาสติก’ พุ่ง ! ผุดโครงการ ‘ส่งพลาสติกกลับบ้าน’ รีไซเคิลยั่งยืน
โครงการ “เปลี่ยนขยะเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) รีไซเคิลกระป๋องเก่าเป็นน้ำดื่มกระป๋องใหม่
Refill Station BKK

อย่างไรก็ตาม มีภาคเอกชนบางส่วนในประเทศไทยได้ริเริ่มใช้หลักการ Circular Economy ซึ่งเป็นภาพรวมของ EPR กันบ้างแล้ว เช่น โครงการ Take-back ร่วมกับร้านค้าปลีกหรือองค์กร และร้านรีฟิลรายย่อยต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น

ในมุมมองของผู้ผลิตในประเทศไทย ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายส่งเสริม Circular Economy โดยใช้หลักการ EPR โดยภาครัฐก็ควรเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันส่วนนี้ด้วย และที่สำคัญรัฐควรเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการแยกขยะในแต่ละภูมิภาคก่อนส่งเข้าสู่โรงงานรีไซเคิล

ส่วนในด้านผู้บริโภคนั้น ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ประเทศไทยควรออกกฎหมายจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ใช้หลักการ EPR และเริ่มที่จะให้ความร่วมมือในการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง แต่ทั้งนี้การให้ความรู้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมาก่อน Aluminium Loop จึงขอเป็นสื่อที่จะช่วยถ่ายทอดความรู้และข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นของบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้อ่านมีข้อมูลใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจ

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า Circular Economy และ EPR เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินไปควบคู่กัน ซึ่งจุดประสงค์หลักก็หนีไม่พ้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งจากขยะ ของเสีย และมลพิษต่างๆ โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคการผลิต และผู้บริโภค ซึ่งผู้ผลิตมีบทบาทที่ต้องรับผิดชอบต่อวงจรผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของตัวเองเพิ่มขึ้นอย่างรอบคอบและเคร่งครัดกว่าแต่ก่อน

 

ขอบคุณข้อมูลจากสัมมนาเรื่อง “ทิศทางการจัดการบรรจุภัณฑ์ของประเทศไทยกับบทบาทภาคอุตสาหกรรม” 

โดย ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มา
– Greenpeace Thailand, กรีนพีซพบบรรจุภัณฑ์พลาสติกของเครือซีพีมากที่สุดเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน, 2020
https://www.greenpeace.org/thailand/press/18419/plastic-brand-audit-result-th-2020/
Greenpeace Thailand, Extended Producer Responsibility (EPR) หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต, 2020
https://www.greenpeace.org/thailand/story/18369/plastic-infographic-extended-producer-responsibility/
– Brand Buffet, ทำความรู้จัก “Extended Producer Responsibility” (EPR) ความรับผิดชอบที่แบรนด์มีต่อโลก-ผู้บริโภค, 2020
https://www.brandbuffet.in.th/2020/12/extended-producer-responsibility/
– BrandAge Online, เกาหลีใต้วางขายน้ำดื่มขวดแบบไม่มีฉลากแล้ว, 2021
https://bit.ly/3CfLE6b
– FuturENVIRO, German Deposit Refund System (DRS)
https://futurenviro.es/en/el-sistema-de-deposito-devolucion-y-retorno-aleman-sddr/
Facebook
Twitter
LinkedIn

บทความที่เกี่ยวข้อง

Liquid Death น้ำดื่มกระป๋องสายดิบเถื่อนที่ยอดขายพุ่งกระฉูด

Liquid Death น้ำดื่มกระป๋องที่เกิดมาเพื่อฆ่า…

น้ำดื่มกระป๋องยอดขายกว่า 2 หมื่นล้านบาท กำลังเป็นที่จับตามองในฐานะแบรนด์สุดกล้าบ้าบิ่นที่มีภาพลักษณ์ดิบเถื่อน แต่ได้รับการยอมรับอย่างล้นหลาม

อ่านต่อ

กระป๋องเครื่องดื่ม VS กระป๋องสเปรย์

กระป๋องเครื่องดื่มและกระป๋องสเปรย์ที่เราเรียกว่ากระป๋องทั้งคู่นั้น แท้จริงแล้วมีความเหมือนหรือแตกต่างกันไหม? มาหาคำตอบกัน

อ่านต่อ
ขาเทียมทำมาจากอะไร

ขาเทียมทำมาจากอะไร?

“ขาเทียม” อุปกรณ์ที่ช่วยเหลือผู้พิการให้สามารถกลับมาดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติ แล้วขาเทียมทำมาจากอะไร มีส่วนประกอบของห่วงกระป๋องรีไซเคิลไหม?

อ่านต่อ