ส่องมุมมองประเทศไทย กับความเป็นไปได้ในการทำ EPR

คุณคิดว่าขยะในประเทศไทยเป็นปัญหาไหม? 

หากสังเกตดูดีๆ คุณคงจะเห็นว่าขยะในประเทศไทยส่งผลกระทบทั้งต่อตัวเองและสิ่งแวดล้อมไม่น้อยเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลิ่น น้ำเสีย รวมไปถึงการบดบังทัศนียภาพ

แล้วเราควรจะแก้ปัญหานี้อย่างไร มีวิธีการใดที่จะนำมาใช้ได้ และภาคส่วนไหนที่ต้องรับผิดชอบบ้าง มาหาคำตอบได้จากบทสัมภาษณ์ “ส่องมุมมองประเทศไทย กับความเป็นไปได้ในการทำ EPR” โดย คุณอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กันได้เลย

“ขยะ” เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมไม่แพ้ปัญหาทางอากาศและน้ำเสีย โดยขยะที่เป็นปัญหามากที่สุดก็คือขยะชุมชนที่สะสมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากไม่สามารถกำจัดได้ทั้งหมดและยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดอีกด้วย โดยขยะสะสมนี้มีทั้งส่วนที่กำจัดได้อย่างถูกต้องและไม่ถูกต้อง ซึ่งระบบการกำจัดที่ถูกวิธีนั้นก็ทำได้น้อยมาก ส่วนการนำไปใช้ประโยชน์ต่อก็มีเพียงประมาณ 16% เท่านั้น 

และจากขยะชุมชนนี้ก็มีขยะบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันอยู่ถึงเกือบ 40% ถึงแม้สถานการณ์ Covid-19 จะทำให้ขยะโดยรวมลดลงไปได้บ้าง แต่ก็ยังคงมีขยะบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมา เนื่องจากมีการบริโภคจากระบบเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าเมื่อสถานการณ์ Covid-19 ทุเลาลง ขยะบรรจุภัณฑ์ก็คงจะมีเพิ่มขึ้นอีกอยู่ดีอันเป็นผลมาจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาด้วย

ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องแก้ไขมาตั้งแต่ปี 2557 แต่ก็ยังแก้ไม่ได้สักที เพราะประชาชนยังไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะได้ อย่างไรก็ตาม รัฐก็มีความพยายามที่จะออกกฎระเบียบให้มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เช่น กำหนดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บขยะ โดยผู้ที่สร้างขยะมากก็ต้องจ่ายมาก ถือเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนคัดแยกขยะให้เป็นระบบระเบียบ จะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บมาก และที่ต้องกำหนดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บขยะให้สูงขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายในการเก็บขยะในประเทศไทยนั้นถือว่าถูกมาก บางที่เดือนละแค่ 10 บาทเท่านั้น จึงทำให้เกิดนิสัยในการทิ้งขยะที่ง่ายเกินไป และยังไม่สร้างจิตสำนึกและพฤติกรรมในการนำขยะไปใช้ประโยชน์ต่อ

หลักการจัดการขยะที่ถูกต้องที่สุดคือนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดก่อนแล้วจึงนำไปกำจัด

แม้จะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับประเทศไทยในการออกมาตรการที่ดูเหมือนผลักภาระให้ประชาชน แต่ก็เป็นภาระที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบจากการบริโภคของตนด้วย นั่นทำให้ต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย เพราะถ้าไม่บังคับก็ยากที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยได้ โดยต้องคุยกับประชาชนให้เข้าใจถึงปัญหาว่าตอนนี้ผลกระทบจากขยะต่อสิ่งแวดล้อมนั้นรุนแรงระดับไหน เพราะถ้าหากประชาชนยังไม่เข้าใจก็จะไม่ให้ความร่วมมือ

ซึ่งตอนนี้ในทุกส่วนของราชการก็มีการบังคับใช้นโยบายของรัฐบาลและมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการกำจัดขยะแล้ว โดยมีกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยประสานงานหลัก จากนั้นก็จะขยายผลไปยังท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งตอนนี้กรมควบคุมมลพิษพยายามใช้นโยบายเชิงรุกเข้าไปในท้องถิ่นที่มีปัญหาเรื่องขยะและสิ่งแวดล้อม โดยให้ท้องถิ่นเหล่านี้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และกรมควบคุมมลพิษจะเป็นพี่เลี้ยงเรื่องการใช้ระบบการจัดการขยะให้

คนที่อยู่ใกล้ปัญหาขยะที่สุดก็คือท้องถิ่น จึงต้องทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งผ่านการบังคับใช้กฎหมายกับคนในชุมชนให้ได้

ในขณะเดียวกันเราก็เห็นว่าภาคเอกชนได้เริ่มดำเนินการเรื่องการจัดการขยะแล้วด้วยเช่นกัน เช่น โครงการของตลาดหลักทรัพย์ที่ให้ทุกบริษัทที่อยู่ในถนนเส้นเดียวกันจัดการขยะอย่างถูกวิธีแล้วเปลี่ยนมาเป็น carbon credit ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขยะเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับ Climate Change และสามารถนำไปสู่เป้าหมาย Net Zero (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์) ได้

สำหรับประชาชนนั้น มีหลักการที่สามารถใช้ยึดถือปฏิบัติได้ก็คือ 3Rs (Reduce Reuse Recycle) แต่ก็ต้องมีการอบรมให้ความรู้กันอย่างจริงจัง เพื่อสร้างนิสัยในการทิ้งและจัดการขยะใหม่ ที่สำคัญต้องส่งเสริมการแปรรูปหรือรีไซเคิลขยะให้ครบวงจรภายในประเทศ 

อยากให้ตัวเลขการรีไซเคิลเพิ่มขึ้นจาก 16% เหมือนประเทศที่เจริญแล้ว ไปจนถึง 70-80% ซึ่งนี่คือโจทย์ที่ท้าทาย 

โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ตอนนี้รัฐกำลังจัดการไม่ให้มีการนำเข้าแล้ว เพื่อให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากขยะที่มีในประเทศให้ได้มากที่สุด โดยให้ฝ่ายผู้ผลิตและโรงงานรีไซเคิลกับกลุ่มประชาชนหรือภาคเอกชนที่มีรายได้จากการเก็บขยะ เช่น กลุ่มซาเล้ง ร่วมมือกันทำให้ขยะพลาสติกพร้อมเป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพและมีความสะอาดเพียงพอที่จะนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปต่อไป ซึ่งถ้าวัฏจักรนี้เกิดขึ้นได้ก็จะช่วยลดปริมาณขยะได้ลงได้มากเลย

จริงๆ แล้วเราไม่ได้มองว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะเป็นสิ่งที่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่ทำลายสิ่งแวดล้อมก็คือการบริโภคแล้วไม่ทิ้งและกำจัดให้ถูกวิธี

อย่างไรก็ตาม ปัญหาขยะไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้บริโภคฝ่ายเดียวเท่านั้น ผู้ผลิตเองก็มีส่วนเป็นอย่างมากจากการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่อาจจะกลายเป็นขยะที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ซึ่งปัจจุบันมีระบบ EPR (Extended Producer Responsibility) หรือหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่างๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ จากเดิมที่ผลิตและขายแล้วก็จบไป แต่ขยายความรับผิดชอบให้ครอบคลุมไปจนถึงหลังการใช้งานของผู้บริโภคด้วย โดยผู้ผลิตต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงหลังการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบ การกระจายสินค้า การเก็บรวบรวมและการรับคืนเพื่อนำไปรีไซเคิลหรือใช้ซ้ำ

วันนี้ประเทศไทยพร้อมหรือยังที่จะนำระบบ EPR มาใช้?

ระบบ EPR จะเป็นผลสำเร็จได้ในประเทศไทยนั้น ไม่ใช่เพียงผู้ผลิตที่ต้องรับผิดชอบ แต่ Stakeholder ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งผู้บริโภค รวมถึงผู้เก็บขยะอย่างท้องถิ่นและซาเล้ง ซึ่งคงต้องเริ่มต้นด้วยภาคสมัครใจก่อน โดยผู้ผลิตต้องคุยเรื่องมาตรการของตนกับ Stakeholder ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าจะทำอย่างไรให้ระบบ EPR นี้สามารถขับเคลื่อนไปให้ได้ 

โดยสำหรับผู้ผลิตนั้นก็จะต้องทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ของตนมีค่า ประชาชนใช้แล้วไม่อยากทิ้งเป็นขยะ แต่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อหรือส่งคืนที่จุดรับทิ้งหรือรับซื้อเพื่อให้หมุนวนกลับมาที่ผู้ผลิต เช่น กระป๋องอลูมิเนียมที่มีมูลค่าชัดเจน ทั้งราคารับซื้อกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วที่สูงกว่าบรรจุภัณฑ์อื่น และยังสามารถรีไซเคิลวนลูปได้ครบวงจร (Closed-Loop Recycling)

ส่วนเรื่องมาตรการต่างๆ ก็ควรเป็นการส่งเสริมมากกว่า เช่น ระบบมัดจำคืนเงิน หรือ Deposit Refund System (DRS) สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ โดยให้ผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์มาส่งคืนที่ตู้รับคืนหรือร้านค้าที่ซื้อไป จากนั้นผู้บริโภคก็จะได้รับเงินค่าบรรจุภัณฑ์คืน ซึ่งถือเป็นแรงจูงใจในการส่งคืนขยะบรรจุภัณฑ์ถึงผู้ผลิตที่ได้ผลดีมาก อย่างไรก็ดี ควรมีกฎหมายข้อบังคับในเรื่องการกระทำที่ไม่ถูกต้องด้วยเช่นกัน เช่น การใช้ประโยชน์ที่ไม่ถูกต้องแล้วเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นอกจากนี้ ถึงแม้รัฐบาลไทยจะวาง Roadmap ในปี 2565 เรื่อง การลดขยะประเภท Single-used Plastic 4 ชนิด คือ หลอด แก้วบาง ถุงบาง และโฟม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ท้าทายในการจะช่วยลดขยะตั้งแต่ทาง แต่สิ่งที่มาทดแทน เช่น หลอดกระดาษ ก็ต้องปลอดภัยและกำจัดได้ง่าย ไม่ใช่กลายเป็นปัญหาขยะเหมือนเดิม นั่นทำให้ผู้ผลิตต้องคิดเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลหรือใช้ซ้ำได้ด้วย

อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญก็คือ เรื่องความสะอาด หากต้องการนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วไปใช้ประโยชน์ต่อ จะด้วยการ Recycle Upcycle Downcycle หรือ Reuse ก็ดี บรรจุภัณฑ์นั้นจะต้องสะอาดและไม่มีการปนเปื้อน แต่ก็มีบรรจุภัณฑ์หนึ่งที่เป็นปัญหามาก คือ ถุงพลาสติกที่คนไทยมักจะนำไปใช้เป็นถุงขยะต่อ จึงทำให้สะอาดได้ยาก และยังทำให้เกิดถุงขยะหลายสีปะปนกันไป เรียกว่าเป็นการใช้ผิดวัตถุประสงค์จนสุดท้ายไม่สามารถใช้ประโยชน์ต่อได้ ในขณะที่ต่างประเทศที่ใช้ระบบ EPR นั้น จะมีการแยกสีของถุงขยะซึ่งบ่งบอกถึงประเภทของขยะได้อย่างชัดเจน

การสนับสนุนจากภาครัฐก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน โดยรัฐต้องอำนวยความสะดวกแก่ผู้ผลิตที่ใช้ระบบ EPR เช่น ในด้านกระบวนการผลิต หรือแม้แต่มาตรการทางภาษี เป็นต้น เพราะถ้ารัฐไม่สนับสนุนผู้ผลิตกลุ่มนี้ ธุรกิจแบบ Circular Business ตามแนวคิด Circular Economy ที่ถูกกำหนดให้เป็นนโยบายของประเทศไทยก็จะไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม สิทธิพิเศษที่ให้แก่ผู้ผลิตกลุ่มนี้ก็ต้องมีความเหมาะสมและยุติธรรม

ตอนนี้เทรนด์เรื่อง EPR สำหรับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กำลังเป็นไปในทิศทางที่ดี เห็นได้ชัดเลยคือมีบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่องกระดาษและหลอดกระดาษเยอะขึ้น ในขณะเดียวกันรัฐก็กำลังทำให้บรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติกและโฟมลดลงไป ถือเป็นการบังคับให้ผู้บริโภคใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปโดยปริยาย จากนั้นร้านค้า เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ รวมถึงผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็จะเริ่มปรับตัวได้ตามไปด้วย

ทุกๆ กิจกรรมในการดำรงชีวิตล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดมลพิษทั้งนั้น ทั้งมลพิษอากาศ น้ำเสีย รวมถึงขยะทั้งหลาย ทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือผู้บริโภคจึงจะต้องปรับความคิด ปรับพฤติกรรม ปรับนิสัย และสร้างความรับผิดชอบของตัวเอง และขยายผลไปยังครอบครัวและชุมชนต่อไป

ฟังพอดแคสต์ EPR Series ตอน “ส่องมุมมองประเทศไทย กับความเป็นไปได้ในการทำ EPR” ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=zLzLU1S70YE

Facebook
Twitter
LinkedIn

บทความที่เกี่ยวข้อง

MOU Recyclable Beverage Packaging

พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อส่งเสริมการผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่สามารถรีไซเคิลได้ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

อ่านต่อ

9 Series of Aluminium Alloys

อลูมิเนียมเป็นโลหะที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดตัวหนึ่งทั้งในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน อลูมิเนียมเหล่านี้มีความเหมือนและต่างกันอย่างไร มาหาคำตอบกัน

อ่านต่อ