Ecocide เมื่อการทำลายสิ่งแวดล้อมในทุกรูปแบบ
กำลังจะถูกบรรจุเป็นความผิดทางอาญา!

Ecocide คืออะไร?


Ecocide คือ การผลาญทำลายสิ่งแวดล้อมในระดับรุนแรงจนยากจะเยียวยาฟื้นฟู กล่าวอีกอย่างว่าเป็นการฆ่าล้างสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจากทั้งน้ำมือมนุษย์และสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์

ยกตัวอย่างเช่น การตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ป่า การทิ้งขยะลงทะเล การใช้สารเคมีที่ปนเปื้อนดินและน้ำ การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ ตลอดจนไปถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมต่างๆ จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบนิเวศ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ปัจจุบันได้มีการผลักดันให้ Ecocide เป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติที่ต้องขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยการผลักดันให้ผ่านกฎหมายระหว่างประเทศนี้ก็เพื่อให้เกิดความยุติธรรมระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม และจะทำให้ผู้คนมีมุมมองต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป

หากการผลักดันดังกล่าวเป็นผลสำเร็จ ศาลอาญาระหว่างประเทศก็จะมีอำนาจตัดสินให้ผู้ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงรับผิดชอบต่อการกระทำของตน ทั้งจากภาคธุรกิจหรือรัฐบาลประเทศใดก็ตาม

จากประเทศผู้ได้รับผลกระทบจากการทำลายสิ่งแวดล้อมขั้นรุนแรง สู่การสนับสนุนให้ Ecocide เป็นอาชญากรรมที่ 5 ต่อจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) อาชญากรรมสงคราม (war crimes) อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ (crimes against humanity) และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน (crime of aggression)

Sea level rise mapping reaches Vanuatu

ประเทศหมู่เกาะวานูอาตูเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากประเทศอื่นๆ ที่ใหญ่กว่า ทำให้เมื่อปลายปี 2562 ทูตจากประเทศหมู่เกาะวานูอาตูประจำสหภาพยุโรปร่วมกับหมู่เกาะมัลดีฟส์ก็ได้มีข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระบุให้การทำลายล้างสิ่งแวดล้อมหรือ Ecocide เป็น ‘อาชญากรรม’ ที่มีความผิดทางอาญา

Satellites show Brazil’s deforestation has only gotten worse since Bolsonaro took office

และอีกหนึ่งการทำลายสิ่งแวดล้อมขั้นรุนแรงจนถึงขั้นสังหารประชาชนนั้นได้เกิดขึ้นที่บราซิล โดยเมื่อต้นปี 2564 ผู้นำชุมชนชนพื้นเมืองในบราซิลได้ร้องเรียนต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ให้มีการสืบสวนสอบสวนประธานาธิบดี จาอีร์ บอลโซนาโร กรณีเร่งทำลายป่าอเมซอนอย่างไม่มีมาตรการควบคุม เพื่อนำพื้นที่ไปใช้สำหรับการขุดเจาะเหมืองแร่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ รวมถึงเอาไว้ให้ทำการเกษตรขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีการข่มขู่คุกคามองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม บังคับผู้อยู่อาศัยให้ย้ายถิ่น และสังหารกลุ่มผู้นำชนพื้นเมือง ซึ่งนั่นถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ผู้นำเหล่านี้จึงได้เรียกร้องให้ Ecocide จัดเป็นหนึ่งในอาชญากรรมที่ ICC จะสามารถสั่งดำเนินคดีได้

นั่นจึงทำให้เห็นว่าการทำลายสิ่งแวดล้อมอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้ใดผู้หนึ่ง แต่อาจเกิดจากภาครัฐหรือภาคการผลิตที่มักจะดำเนินกิจการขนาดใหญ่จนนำมาซึ่งผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งการผลักดันกฎหมายในขณะนี้ก็เพื่อให้เกิดกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ ให้ทุกภาคส่วนยึดถือปฏิบัติเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมวลมนุษยชาติเองด้วย ปัจจุบันเราจึงเห็นภาคการผลิตต่างก็ตื่นตัวเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม และหันมายึดหลักการผลิตเพื่อความยั่งยืน

คุณในฐานะประชาชนคนหนึ่งก็สามารถมีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้ Ecocide ผ่านกฎหมายระหว่างประเทศได้โดยเข้าไปลงชื่อสนับสนุนในแคมเปญ Stop Ecocide ได้ที่ https://www.stopecocide.earth/

อ้างอิง
– Thiraphon Singlor, ‘Ecocide’ อาชญากรรมฆ่าล้างสิ่งแวดล้อมกับการผลักดันให้มีความผิดทางอาญาระดับโลก, 2021
https://www.sdgmove.com/2021/04/27/ecocide-in-world-movement-towards-international-criminal-law-envi-justice/
– รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์, เดินหน้าผลักดัน การผลาญทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ “Ecocide”, 2021
https://www.seub.or.th/bloging/news/global-news/ecocide/
– ประชาไท, ชนพื้นเมืองในบราซิล ยื่นฟ้องศาลโลกกรณี ‘บอลโซนาโร’ ถางป่าอเมซอน สังหาร-ปราบปรามประชาชน, 2021
https://prachatai.com/journal/2021/01/91377
Facebook
Twitter
LinkedIn

บทความที่เกี่ยวข้อง

Sustainable Development Goals and Aluminium Can

กระป๋องอลูมิเนียมตอบโจทย์ SDGs ข้อไหนบ้าง?

จากกระแสโลกในปัจจุบันที่มุ่งไปสู่ทิศทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน แล้วกระป๋องอลูมิเนียมจะตอบโจทย์ความยั่งยืนในมุม SDGs อย่างไรบ้าง?

อ่านต่อ

คุยเฟื่องเรื่องยั่งยืน: อย่ามัวแต่รู้แล้วเฉย

ทรัพยากรที่ลดน้อยลงทำให้ผู้คนต้องคิดทบทวนเกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคมากขึ้น วันนี้ของพวกเราจึงต้องร่วมด้วยช่วยกันอย่างจริงจัง

อ่านต่อ