ชีวิตของป๋อง:
การเวียนว่ายตายเกิดของอลูมิเนียม

กระป๋องอลูมิเนียมทิ้งแล้วไปไหน… กระป๋องอลูมิเนียมทุกใบที่คุณทิ้งไปจะตายอย่างไร้ประโยชน์ หรือจะได้ไปเกิดใหม่ รู้ไหมว่าก็ขึ้นอยู่กับการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางของคุณด้วย! 

หลายคนคงคิดไม่ถึงล่ะสิว่าการแยกขยะจะส่งผลต่อชะตาชีวิตของกระป๋องอลูมิเนียมหลังจากนั้น Aluminium Loop จึงอยากชวนทุกคนมาดูคลิปวิดีโอสารคดีเรื่อง ชีวิตของป๋อง: การเวียนว่ายตายเกิดของอลูมิเนียม แล้วจะรู้ว่าอลูมิเนียมมีดียังไง แต่สำหรับใครที่อยากรู้ข้อมูลคร่าวๆ ก่อน เรามีรีวิวของสารคดีนี้มาเล่าให้ฟังกันก่อนค่ะ

ก่อนอื่นต้องบอกว่าสารคดีเรื่อง “ชีวิตของป๋อง: การเวียนว่ายตายเกิดของอลูมิเนียม” นั้นเป็นส่วนหนึ่งของรายการ Waste Journey ทางช่อง “เถื่อน Channel” ของคุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมตัวท็อปของประเทศไทย ซึ่งเค้าได้ทำสารคดี Waste Journey ตอน แยกขยะผิด ชีวิตเปลี่ยน ไปเมื่อปีที่แล้ว ในสารดคีนี้คุณวรรณสิงห์ก็ได้พาไปดูบ่อขยะจากขยะที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีการคัดแยกอย่างถูกต้องและไม่ได้ส่งไปรีไซเคิลต่อ ซึ่งมีปริมาณมากมายมหาศาลเลยทีเดียว และการจะกำจัดออกไปให้หมดก็คงใช้เวลานานหลายสิบปี ถึงแม้ขยะเหล่านั้นจะสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนหรือพลังงานไฟฟ้าได้ แต่ถ้าทิ้งขยะมั่วซั่วโดยไม่แยกให้ดีก็จะต้องเสียค่ากำจัดขยะแพงขึ้นเพื่อให้ได้สิ่งแวดล้อมที่ดี ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการกำจัดขยะจึงไม่ใช่การเปลี่ยนเป็นพลังงาน แต่คือการลดขยะและการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง

โดยในบ่อขยะนั้นใช่ว่าจะมีแต่ขยะไร้ประโยชน์ไปซะทั้งหมด ยังมีขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ที่หลุดมาจากกระบวนการรีไซเคิลในด่านแรกที่ผ่านมือของซาเล้งและพนักงานเก็บขยะปะปนมาด้วย ซึ่งบ่อขยะบางแห่งก็เปิดให้ชาวบ้านเข้ามาเก็บหรือบางแห่งก็ไปจัดการคัดแยกกันต่อเอง แต่จะดีกว่าไหมถ้าขยะที่สามารถรีไซเคิลได้นั้นจะได้เดินไปตามเส้นทางรีไซเคิลเพื่อเกิดใหม่ตั้งแต่แรก โดยไม่ต้องมาเยี่ยมชมบ่อขยะที่ไม่ใช่ที่ของพวกมัน หากคุณอยากให้ขยะรีไซเคิลเหล่านั้นได้ไปมีชีวิตใหม่ต่อไป วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะช่วยได้ก็คือการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางซึ่งช่วยลดการทำงานของซาเล้งและพนักงานเก็บขยะลงไปได้เยอะเลย ไม่เช่นนั้นพี่ๆ เหล่านี้ก็อาจจะพลาดส่งขยะรีไซเคิลที่โชคร้ายบางชิ้นหลุดลอยเข้ามาสู่บ่อขยะได้

ส่วนหนึ่งจากสารคดี Waste Journey ตอน แยกขยะผิด ชีวิตเปลี่ยน
ส่วนหนึ่งจากสารคดี Waste Journey ตอน แยกขยะผิด ชีวิตเปลี่ยน
ส่วนหนึ่งจากสารคดี Waste Journey ตอน แยกขยะผิด ชีวิตเปลี่ยน

บรรจุภัณฑ์ที่มีเส้นทางหลังกลายเป็นขยะที่น่าสนใจมากๆ ตัวหนึ่งเลยก็คือ กระป๋องอลูมิเนียม เพราะสามารถรีไซเคิลได้เรื่อยๆ ทุกส่วนแบบ 100% แถมราคาขายของกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วก็สูงกว่าขยะบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เรียกได้ว่าแทบจะไม่ใช่ขยะเลย เพราะค่าตัวสูง สามารถคืนกำไรให้ผู้บริโภคก่อนจะไปเกิดใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้ 

กระป๋องอลูมิเนียมผลิตมาจากโลหะอลูมิเนียมซึ่งเดิมทีต้องมีการสกัดออกจากแร่อื่นๆ อย่างบอกไซต์ เนื่องจากอลูมิเนียมจะไม่ถูกพบเป็นโลหะบริสุทธิ์เดี่ยวๆ ในธรรมชาติ และแม้จะมีให้ใช้เยอะมาก เพราะเป็นแร่ที่พบมากเป็นอันดับ 3 ในเปลือกโลก แต่กรรมวิธีในการถลุงแร่และสกัดนั้นก็ถือว่าใช้พลังงานเยอะเลยทีเดียวเมื่อเทียบกับการรีไซเคิล โดยการรีไซเคิลอลูมิเนียม เช่น รีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมนั้นใช้พลังงานเพียง 5% เท่านั้น และจะสามารถประหยัดพลังงานไปได้ 95% เมื่อเทียบกับการถลุงแร่ขึ้นมาใหม่ 

โดยกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วสามารถรีไซเคิลได้ทั้งใบ ไม่จำเป็นต้องแยกห่วงดึงออกจากตัวกระป๋องแต่อย่างใด ซึ่งหลายคนยังคงคิดว่าที่ต้องแยกเพราะจะนำห่วงดึงไป Upcycle เป็นขาเทียมได้ บอกเลยว่าเชยมาก เพราะถึงจะทำได้จริงเมื่อสมัยก่อน แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัสดุใหม่ๆ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการผลิตเป็นชิ้นส่วนขาเทียมมากกว่าอลูมิเนียมที่หลอมจากห่วงดึง ทำให้มูลนิธิขาเทียมแนะนำให้ประชาชนที่นำอลูมิเนียมมาบริจาค ขายเพื่อนำเงินมาบริจาคให้มูลนิธิใช้ซื้อวัสดุในการทำขาเทียมและเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแทน

หลังจากคัดแยกขยะแล้ว กระป๋องอลูมิเนียมหลายๆ ใบจะถูกบีบอัดรวมกันให้เป็นก้อนสี่เหลี่ยมเพื่อประหยัดพื้นที่ในการขนส่งไปยังโรงงานรีไซเคิล ที่โรงงานรีไซเคิลก้อนกระป๋องที่ถูกบีบอัดนี้จะถูกสับให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วเข้าเตาเผาเพื่อเผาสีออก ตามด้วยการหลอมและหล่อขึ้นรูปเป็นแท่งก่อนจะรีดให้เป็นแผ่นบางและม้วนใส่แกนให้เป็นม้วนอลูมิเนียม หรือเรียกว่า Aluminium Coil ที่พร้อมส่งต่อให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากอลูมิเนียมต่อไป เช่น กระป๋องอลูมิเนียม เป็นต้น

ส่วนหนึ่งจากสารคดี “ชีวิตของป๋อง: การเวียนว่ายตายเกิดของอลูมิเนียม”
ส่วนหนึ่งจากสารคดี “ชีวิตของป๋อง: การเวียนว่ายตายเกิดของอลูมิเนียม”

สำหรับประเทศไทยเองนั้น เราผลิตกระป๋องอลูมิเนียมถึงปีละกว่า 5 พันล้านกระป๋อง โดยกระป๋องเหล่านี้ได้นำกลับไปรีไซเคิลใหม่กว่า 85% ที่อัตราการเก็บกลับไปรีไซเคิลสูงขนาดนี้ นั่นก็เพราะว่ากระป๋องอลูมิเนียมรีไซเคิลง่าย เนื่องจากเป็น Monomaterial หรือเป็นวัสดุที่ไม่ได้ผสมวัสดุอื่นที่จำเป็นต้องแยกออกก่อนการรีไซเคิล และกระป๋องอลูมิเนียมที่ผลิตในประเทศยังมีส่วนผสมจากวัสดุรีไซเคิล หรือ Recycled Content มากกว่า 70% ซึ่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นด้วย อย่างไรก็ตาม ในการผลิตกระป๋องอลูมิเนียมนั้นไม่สามารถใช้เพียงอลูมิเนียมรีไซเคิลได้ ต้องมีอลูมิเนียมที่สกัดใหม่ผสมเข้าไปด้วย แต่การขุดอลูมิเนียมใหม่ก็ใช้พลังงานเยอะมาก ดังนั้น ยิ่งเราเก็บอลูมิเนียมมารีไซเคิลได้มากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งลดพลังงานในการผลิตกระป๋องลงไปเรื่อยๆ

มาร่วมต่อชีวิตโลหะชนิดนี้ จากอลูมิเนียมสู่อลูมิเนียม จากกระป๋องสู่กระป๋องกันดีกว่า ด้วยวิธีที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ เพียงแยกขยะให้ถูกประเภทก่อนทิ้ง ขยะชิ้นไหนที่รีไซเคิลได้ยิ่งต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อให้ขยะเหล่านั้นได้เกิดใหม่เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับเราไปอีกหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะกระป๋องอลูมิเนียมที่สามารถรีไซเคิลได้ไม่รู้จบแบบ 100% โดยไม่เสียคุณภาพแม้แต่นิดเดียว ซึ่งไม่ต้องแยกห่วงก่อนทิ้งแล้วนะ!

ชมสารคดี ชีวิตของป๋อง: การเวียนว่ายตายเกิดของอลูมิเนียม ได้ที่

https://www.facebook.com/wannasingh/videos/759290832133902/

ชมสารคดี Waste Journey ตอน แยกขยะผิด ชีวิตเปลี่ยน ได้ที่

https://www.youtube.com/watch?v=b0lCwGzb-LM

Facebook
Twitter
LinkedIn

บทความที่เกี่ยวข้อง

MOU Recyclable Beverage Packaging

พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อส่งเสริมการผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่สามารถรีไซเคิลได้ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

อ่านต่อ