ขยะรีไซเคิล... ทิ้งแล้วไปไหน?

หลังจากการอุปโภคบริโภคแล้ว คุณเคยสงสัยกันมั้ยว่าขยะจะไปไหนต่อหลังจากคุณทิ้งมันไป?

ขยะ… สิ่งที่เราไม่ต้องการใช้ประโยชน์สำหรับการอุปโภคบริโภคต่อ แต่ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่คุณไม่ต้องการแล้ว ขยะเหล่านี้ก็มีส่วนที่สามารถรีไซเคิลและใช้ประโยชน์ต่อไปได้ 

Aluminium Loop อยากชวนทุกคนมาเรียนรู้เกี่ยวกับขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ และตัวอย่างราคารับซื้อขยะประเภทต่างๆ ในปัจจุบัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้จะถูกจำแนกออกเป็น 5 ประเภทหลักๆ คือ

 

1. กระดาษ (Paper)
  • ราคารับซื้ออยู่ที่ 3.6 – 5.5 บาท/กิโล
  • กระดาษกล่องผลไม้ กระดาษหนังสือเล่มรวม กระดาษแข็งกล่องน้ำตาล และกระดาษแผ่นขาว/ดำเกรด A จะมีราคารับซื้อสูงขึ้นตามลำดับตั้งแต่ 3.6 ไปจนถึง 5.5 บาท
  • สำหรับกระดาษกล่องนมและกล่องน้ำผลไม้จะไม่มีมูลค่ารับซื้อ เนื่องจากส่วนประกอบของกล่องมีทั้งกระดาษ พลาสติก และอลูมิเนียมฟอยล์ ซึ่งไม่สามารถรีไซเคิลได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็ได้มีสถาบันวิจัยบางแห่งพยายามคิดค้นวิธีแยกกระดาษและอลูมิเนียมออกจากกล่องเหล่านี้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการรีไซเคิลที่ทำได้ยาก
 
2. ขวดแก้ว (Glass)
  • ราคารับซื้ออยู่ที่ 0.3 – 19 บาท
  • ขวดเบียร์สีชามีราคารับซื้ออยู่ที่ 0.3 บาท/ใบ และ 10 บาท/กล่อง, ขวดเบียร์สีเขียว 0.5 บาท/ใบ และ 14 บาท/กล่อง, ขวดเหล้าขาวมีราคาสูงที่สุดอยู่ที่ 19/กล่อง (24 ขวด) และเศษแก้วมีราคาอยู่ที่ 1.55-1.8 บาท/กิโล (ขึ้นอยู่กับสี)
 
3. พลาสติก (Plastic)
  • ราคารับซื้ออยู่ที่ 0.2 – 13 บาท/กิโล
  • ขวดน้ำ PET ใส (สกรีน) มีมูลค่าอยู่ที่ 0.2 บาท ในขณะที่แบบไม่สกรีนมีมูลค่า 9 บาท ส่วนขวดน้ำขาวขุ่น (HDPE) มีราคารับซื้อ 5 บาท และท่อ PVC สีฟ้ามีราคารับซื้อสูงสุดที่ 13 บาท
 
4. อลูมิเนียม/โลหะที่ไม่มีเหล็กปน (Non-ferrous Metals)
  • ราคารับซื้ออยู่ที่ 0.5 – 254 บาท/กิโล
  • กระป๋องเครื่องดื่มอลูมิเนียมมีมูลค่ารับซื้อสูงถึง 41 บาท, ฝาจุกอลูมิเนียมมีมูลค่าตั้งแต่ 12-27 บาท (ขึ้นอยู่กับสภาพ) อลูมิเนียมอัลลอยด์ 29 บาท และทองแดงเส้นใหญ่ 254 บาท
 
5. เศษเหล็ก (Steel)
  • ราคารับซื้ออยู่ที่ 3.2 – 11.4 บาท/กิโล
  • ตะปูเหล็กมีราคารับซื้อสูงถึง 9.3 บาท เหล็กจากชิ้นส่วนรถยนต์ 7.5 บาท ส่วนกระป๋องเหล็กจำพวกกระป๋องอาหารสำเร็จรูปจะมีมูลค่าอยู่ที่ 5 บาท

 

* ข้อมูล ณ วันที่ 2 พ.ค. 64: http://www.wongpanit.com/print_history_price/1138

** ราคาแต่ละร้านอาจมีความแตกต่างกันไป

จะเห็นได้ว่าขยะทุกประเภทที่กล่าวมามีมูลค่าด้วยกันทั้งสิ้น อยู่ที่คุณจะสามารถแยกมันได้ถูกวิธีหรือไม่ และถึงแม้ขยะบางชนิดจะไม่มีมูลค่ารับซื้อ เช่น กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ แต่ก็ถือว่าคุณได้เป็นกลไกสำคัญในกระบวนการคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลต่อไป

 

สำหรับขยะที่มีราคารับซื้อสูงอย่างโลหะจำพวกอลูมิเนียมและโลหะอื่นๆ ที่ต้องไม่มีเหล็กปนนั้น หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงว่าขยะเหล่านี้อยู่ใกล้ตัวคุณมากแค่ไหน หากไม่นับขยะอย่างทองแดง ทองเหลือง ที่มีมูลค่ารับซื้อสูงถึง 200 กว่าบาทแล้ว กระป๋องอลูมิเนียมบรรจุเครื่องดื่มก็ถือว่ามีราคารับซื้อสูงกว่าบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่นเลยทีเดียว โดยราคารับซื้อกระป๋องอลูมิเนียมในทุกวันนี้อยู่ที่ประมาณ 41-50 บาท/กิโลเลยทีเดียว สูงกว่าราคารับซื้อบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ที่มีมูลค่าต่ำกว่า เช่น ขวดเบียร์มีราคารับซื้ออยู่ที่ 10-19 บาท/กล่อง และขวดพลาสติก 0.2-10 บาท/กิโลเท่านั้น

 

หลังจากการคัดแยกขยะแล้ว ขยะประเภทต่างๆ จะถูกนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่แตกต่างกันไป โดยที่ขยะทุกชนิดควรจะต้องผ่านกระบวนการล้างทำความสะอาดก่อนเป็นลำดับแรก เนื่องจากขยะที่ปนเปื้อนนั้นจะไม่สามารถรีไซเคิลต่อไปได้ และมักจะจบลงที่กองขยะฝังกลบหรือเตาเผาขยะ เราขอยกตัวอย่างการรีไซเคิลขยะคร่าวๆ ให้ดูกัน ดังนี้

 
1. การรีไซเคิลขยะประเภทกระดาษ

กระดาษที่นำไปรีไซเคิลจะต้องไม่เปื้อนน้ำมัน จากนั้นจะแยกกระดาษประเภทต่างๆ เข้าสู่กระบวนการกำจัดหมึกออก แล้วตีให้เปื่อยยุ่ยเป็นเยื่อกระดาษสำหรับใช้ผสมกับเยื่อกระดาษใหม่ก่อนนำไปอบด้วยความร้อนเพื่อผลิตเป็นกระดาษรีไซเคิลต่อไป เช่น กระดาษสมุดและหนังสือ กล่องบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม กล่องกระดาษแข็ง หรือแม้แต่กระดาษทิชชูก็สามารถทำมาจากกระดาษรีไซเคิลได้ โดยจะต้องนำมาอบในความร้อนกว่า 200 องศาเซลเซียส เพื่อให้มั่นใจในความสะอาดปลอดภัย เป็นต้น

 
2. การรีไซเคิลขยะประเภทแก้ว

เริ่มแรกต้องคัดแยกสีแก้วออกจากกันระหว่างสีใส สีชา และสีเขียว ทุบให้แตกละเอียด ล้างด้วยสารเคมี และหลอมละลายเพื่อเป่าเป็นขวด บรรจุภัณฑ์ต่างๆ หรือของประดับตกแต่งต่อไป สำหรับแก้วที่ยังอยู่ในสภาพดีนั้นก็มีการนำกลับมาใช้ซ้ำหลังผ่านขั้นตอนการทำความสะอาดแล้ว

 
3. การรีไซเคิลขยะประเภทพลาสติก

ดึงฉลากออก ทำให้แบนเพื่อประหยัดพื้นที่ จากนั้นคัดแยกพลาสติกตามประเภท แล้วนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลตามการใช้งานหลังจากนี้ เช่น การสลายตัวด้วยความร้อนเพื่อให้กลับสู่รูปน้ำมันปิโตรเลียมสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือการแปรรูปด้วยความร้อนโดยการอบแห้ง บด และหลอม ให้กลับสู่รูปแบบเม็ดพลาสติกซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้เช่น ทำฟิล์ม ภาชนะใส่อาหาร ชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พลาสติกสามารถรีไซเคิลได้เพียง 2-3 ครั้งเท่านั้นด้วยข้อจำกัดด้านการใช้งานบางประการ เช่น พลาสติกที่ปนเปื้อนสิ่งสกปรกและไม่สามารถล้างออกได้ จะไม่สามารถรีไซเคิลต่อไปได้ เป็นต้น

 
4. การรีไซเคิลขยะประเภทอลูมิเนียม

อลูมิเนียมนั้นมีอยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นขอบหน้าต่าง ชิ้นส่วนรถยนต์ ไปจนกระทั่งแล็ปท็อป ในทีนี้เราจะขอพูดถึงการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มอลูมิเนียม ซึ่งทำได้โดยการบดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วหลอมเป็นแท่งอลูมิเนียมขนาดใหญ่ ก่อนจะรีดให้เป็นแผ่นบางเพื่อส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตกระป๋องอลูมิเนียมที่สะอาดและปลอดภัยอีกครั้ง และที่สำคัญก็คือ เราสามารถรีไซเคิลอลูมิเนียมได้เรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบ

 
5. การรีไซเคิลขยะประเภทเศษเหล็ก

โดยทั่วไปแล้วการรีไซเคิลเศษเหล็กจะต้องนำไปผ่านกระบวนหลอมก่อนนำไปขึ้นรูปเป็นแท่งหรือรีดเป็นแผ่นต่อไป แต่สำหรับกระป๋องเหล็กบรรจุอาหารนั้นมักจะมีการเคลือบดีบุกเพื่อให้ทนทานต่อการกัดกร่อนของอาหาร ซึ่งการรีไซเคิลนั้นต้องนำไปบีบอัดให้มีขนาดเล็ก แล้วแยกดีบุกออกจากเหล็กด้วยสารเคมี ก่อนที่จะหลอมออกมาเป็นแท่งดีบุกและแท่งเหล็กแยกกัน เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระป๋อง วัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น

ขยะหลายอย่างที่หมดประโยชน์สำหรับเราแล้ว กลับยังใช้ประโยชน์ต่อได้ในอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคต่อไป ขยะจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับเรา แต่มันจะย้อนกลับมาหาเราอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

Aluminium Loop อยากส่งเสริมให้ทุกคนเห็นคุณค่าของการคัดแยกขยะกัน หลายคนอาจจะคิดว่าเดี๋ยวคนเก็บขยะก็ไปแยกต่อเองแหละ แต่จะดีกว่าไหมถ้าคุณได้ช่วยประหยัดเวลาให้พวกเขาทำงานได้ง่ายขึ้น

ทุกอย่างเริ่มต้นได้ที่ตัวคุณ!

อ้างอิง
– Recycle Day Thailand, กล่องนมรีไซเคิลได้หรือไม่, 2019
https://bit.ly/2R0BnYC
– River Group, Recycled Paper Products
https://bit.ly/3h9caWs 
– Prodigy Public, การรีไซเคิลพลาสติก
https://bit.ly/3vnxk7l
– 7 Things You Didn’t Know About Plastic (and Recycling), National Geographic
https://bit.ly/3vSFUez 
– กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, กลุ่มของเสียครัวเรือน: ผลิตภัณฑ์เหล็กเคลือบดีบุก
https://bit.ly/3h7w7Ng
Facebook
Twitter
LinkedIn

บทความที่เกี่ยวข้อง

กระป๋องเครื่องดื่ม VS กระป๋องสเปรย์

กระป๋องเครื่องดื่มและกระป๋องสเปรย์ที่เราเรียกว่ากระป๋องทั้งคู่นั้น แท้จริงแล้วมีความเหมือนหรือแตกต่างกันไหม? มาหาคำตอบกัน

อ่านต่อ

กระป๋องอลูมิเนียมมีวิธีการผลิตอย่างไร?

กว่าจะมาเป็นกระป๋องอลูมิเนียม บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่เราคุ้นเคยกัน ต้องผ่านกระบวนการผลิตอะไรมาบ้าง มาร่วมศึกษาไปด้วยกัน

อ่านต่อ