Circular Economy
กับโอกาสการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

ทุกวันนี้มนุษย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากเพื่อสนองประโยชน์ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม จนสร้างผลกระทบและความเสียหายให้โลกจนยากจะกลับไปอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม ทางรอดต่อจากนี้จึงต้องเป็นการหาวิธีใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ให้คุ้มค่ามากที่สุด ซึ่ง Circular Economy ก็เป็นระบบที่จะมาช่วยแก้ปัญหานี้ได้ และทั่วโลกต่างก็กำลังให้ความสนใจกัน

 

Circular Economy คืออะไร?

Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อคืนสภาพหรือให้ชีวิตใหม่แก่วัสดุต่างๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ รวมถึงยืดอายุการใช้งานทรัพยากรนั้นๆ ให้ยาวนานมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยวิธีดังกล่าวจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างของเสียให้น้อยที่สุด เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง เช่น ลดการใช้สารเคมีที่เป็นพิษ ใช้เทคนิคการออกแบบผลิตภัณฑ์ขั้นสูงเพื่อไม่ให้เกิดของเสีย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสร้างสมดุลในการดึงทรัพยากรธรรมชาติใหม่มาใช้งานด้วย

หลักการพื้นฐานของ Circular Economy มีวิธีคิดง่ายๆ คือ การต่ออายุทรัพยากรที่มีอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ให้มีเพียงพอต่อความต้องการผลิตเพื่อการบริโภค โดยที่ไม่ต้องใช้ทรัพยากรใหม่ที่มีปริมาณน้อยลดน้อยลงทุกวันให้สิ้นเปลืองไปมากกว่านี้

 

จากการใช้ทรัพยากรอย่างไร้การควบคุมที่ผ่านมา นอกจากจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกที่มาจากกระบวนการผลิต เป็นต้น อัตราการเติบโตของประชากรก็ยังเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้ความต้องการบริโภคมีมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหากมนุษย์ยังคงใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีการวางแผน นั่นก็อาจจะทำให้ถึงขีดจำกัดของต้นทุนทางธรรมชาติในเร็ววัน จนทำให้โลกเข้าสู่ภาวะล่มสลายของภาคการผลิตและการสูญพันธุ์ของมนุษย์ตามมาได้ 

 

องค์กร Circle Economy รายงานใน Circular Gap report 2020 ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจโลกมีการดำเนินงานที่สอดคล้องไปกับเศรษฐกิจหมุนเวียนเพียงร้อยละ 8.6 ลดลงจาก 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 9.1 โดยสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจโลกมีการหมุนเวียนลดลงก็เนื่องมาจากปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

  • การสกัดวัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ในอัตราที่สูงขึ้น 
  • การกักตุนทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง 
  • การแปรใช้ใหม่ยังอยู่ในระดับต่ำ

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ปัจจุบันหลายธุรกิจพยายามจะใช้หลัก Circular Economy เข้ามาดำเนินในธุรกิจเพื่อลดปัญหาที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งสู่ความยั่งยืนในปัจจุบันและอนาคต

 

Circular Economy สามารถนำไปใช้กับธุรกิจได้อย่างไร? 

เรามีตัวอย่างต้นแบบธุรกิจ 5 ประเภทจาก Circular Economy ให้ดูกัน

  • Circular Design: มุ่งเน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานได้ยาวนาน สามารถปรับปรุงและซ่อมแซมได้ง่าย โดยอาจจะใช้ระบบการสมัครสมาชิกที่ได้รับสิทธิ์ในการปรับปรุงและซ่อมแซมฟรี ทำให้สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด และลดการผลิตใหม่
  • Circular Supplies: ใช้วัสดุจากการรีไซเคิลหรือวัสดุชีวภาพ (Bio-based materials) มาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต และใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิต ตัวอย่างเช่น การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มประเภทกระป๋องอลูมิเนียมที่สามารถรีไซเคิลให้กลับมาเป็นกระป๋องใบใหม่ได้ไม่รู้จบ หรือการจัดรูปแบบการขายตามออเดอร์แบบ real time ซึ่งลดการผลิตเกินจำนวนจนอาจกลายเป็นขยะ โดยผู้บริโภคสามารถส่งผลิตภัณฑ์กลับมารีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ส่งกลับให้ผู้บริโภคคนเดิมได้
  • Product as a service: การให้บริการแบบเช่า หรือจ่ายเมื่อต้องการใช้งาน (pay for use) แทนการซื้อขาด ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเป็นขยะที่อาจจะจัดการไม่ถูกวิธีได้ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
  • Sharing Platform: มุ่งเน้นการใช้และแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันเพื่อให้สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การให้บริการจักรยานตามสถานที่ต่างๆ โดยปลดล็อกและจ่ายค่าบริการจักรยานผ่านสมาร์ทโฟน
  • Resource Recovery: ออกแบบระบบนำกลับ (Take-Back system) เพื่อใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ให้คุ้มค่าผ่านการใช้ซ้ำหรือการรีไซเคิลเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่อีกครั้ง เช่น ระบบนำกลับบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดแก้วเพื่อทำความสะอาดแล้วบรรจุเครื่องดื่มใหม่

 

อย่างไรแล้ว การเคลื่อนไหวของ Circular Economy ก็เป็นสิ่งที่ผู้นำทั่วโลกให้ความสนใจ เช่น

สหภาพยุโรป (EU) ที่เริ่มมีบทบาทตั้งแต่ปี 2012 ตามรายงาน Towards the Circular Economy ที่ระบุว่า หากสหภาพยุโรปใช้ Circular Economy ก็จะสามารถประหยัดต้นทุนทางวัสดุไปได้ถึง 630 ล้านดอลลาร์ต่อปี ภายในปี 2015 และต่อมาในปี 2018 EU ก็ได้มีการประกาศใช้ “Circular Economy Action Package” ซึ่งครอบคลุมเป้าหมายและนโยบายในการลดขยะพลาสติก ลดการฝังกลบขยะ และเพิ่มปริมาณการรีไซเคิลโดยมุ่งไปที่การพัฒนาการออกแบบและการนำกลับมาใช้อีกครั้งของผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งกำหนดไว้ว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะต้องสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ทั้งหมดภายในปี 2030

เนเธอร์แลนด์ เริ่มมีการใช้นโยบาย Circular Economy ตั้งแต่ปี 2016 โดยริเริ่มนโยบายการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ทั้งหมดภายในปี 2050 และตั้งเป้าหมายระยะยาวในการลดปริมาณวัตุดิบขั้นต้นให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2030 และยังมีการคาดการณว่าภายในปี 2023 Circular Economy จะสร้างตลาดที่มีมูลค่ามากกว่า 7.3 พันล้านดอลลาร์ต่อปี และสร้างงานกว่า 54,000 ตำแหน่ง

ญี่ปุ่น เริ่มใช้ The Promotion of Effective Utilization of Resources Law เมื่อปี 2000 ส่งผลให้มีขยะจากการผลิตและการบริโภคที่ไม่ได้นำกลับไปใช้ใหม่เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ซึ่งความสำเร็จนี้มาจากการสร้างรากฐานการจัดการของเสียอย่างครอบคลุมของรัฐบาล และการบังคับให้เอกชนเป็นเจ้าของร่วมในโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการจัดการของเสีย

สำหรับประเทศไทยเองนั้นก็มี BCG Model (Bio-Circular-Green Economy Model) หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ในปี 2021 นี้ที่จะนำ Circular Economy มาใช้และพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งต้นแบบเศรษฐกิจนี้ประกอบไปด้วย

  • Bio Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่าควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยเพิ่มความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม
  • Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรในอนาคต ผ่านการใช้ผลิตภัณฑ์เต็มวงจรชีวิต หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ และลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด
  • Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียวที่มุ่งเน้นการพัฒนาให้เกิดความสมดุลกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การบริโภคอย่างยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
BCG Model

โดยที่ BCG Model นี้จะต้องดำเนินผ่าน 4 แพลตฟอร์ม เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ คือ 

  1. รัฐบาล: ออกกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ ให้เงินสนับสนุน รวมถึงสร้างสิทธิประโยชน์และแรงจูงใจ
  2. มหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัย: วิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ รวมถึงให้บริการรับรองมาตรฐานและคุณภาพ
  3. ต่างประเทศ: ให้เงินสมทบ และสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญ
  4. เอกชน/สังคม/ชุมชน: พัฒนาตลาดและธุรกิจ เป็นแหล่งทรัพยากรในพื้นที่และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการเข้าไปมีวิจัยร่วม และสนับสนุนเงินลงทุน

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์มูลค่าการลงทุนในเศรษฐกิจตามหลัก BCG ในประเทศไทยภายในระยะเวลาประมาณ 10 ปี (2021-2030) ไว้ที่ประมาณ 760,000 ล้านบาท

ปัจจุบันทุกภาคส่วนกำลังมุ่งสู่ความยั่งยืนกันอย่างแข็งขัน ซึ่งอาจจะไม่สามารถแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่ทำได้คือการเยียวยาและไม่สร้างผลกระทบเพิ่ม ดังนั้น แนวคิด Circular Economy จึงเกิดขึ้น เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

ที่มา
– ภัทราพร แย้มละออ, เศรษฐกิจหมุนเวียน – โอกาสใหม่ของธุรกิจเพื่อความยั่งยืน, 2018
https://bit.ly/3CfYbFF
– Thiraphon Singlor, เมื่อโลกต้องการโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ไทยจึงมี ‘BCG’ (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติปี 2564, 2021
https://bit.ly/3EmP1Jf
Facebook
Twitter
LinkedIn

บทความที่เกี่ยวข้อง

UNIVERSITY CAN DO: TO BE A CREATOR

โครงการ UNIVERSITY CAN DO: TO BE A CREATOR ปลุกตัวตนนักสร้างคอนเทนต์ออนไลน์สายสิ่งแวดล้อมที่พร้อมจะ CAN DO ไปด้วยกัน

อ่านต่อ

กระป๋องอลูมิเนียมกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

กระป๋องอลูมิเนียม บรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

อ่านต่อ