การเวียนว่ายตายเกิดของอลูมิเนียม
กระป๋องอลูมิเนียมทุกใบที่คุณทิ้งไปอาจจะตายอย่างไร้ประโยชน์หรือจะได้ไปเกิดใหม่ ขึ้นอยู่กับการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางของคุณ
Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นคำที่น่าจะคุ้นหูใครหลายๆ คน หากมองเรื่องการทำธุรกิจที่ยึดหลักความยั่งยืน สำหรับประเทศไทยนั้น เราให้ความสำคัญกับ Circular Economy ขนาดไหน มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไร แล้วยังมีเรื่องใดอีกบ้างที่เกี่ยวข้อง Aluminium Loop จะชวนทุกคนมาหาคำตอบผ่านมุมมองของ ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และประธาน Thai SCP Network (Thai Sustainable Consumption and Production Network) หรือเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย
ในบทความนี้จะมุ่งประเด็นไปที่ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งได้ถูกกำหนดให้เป็นนโยบายของประเทศไทยในปัจจุบัน โดย Circular Economy นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของ BCG โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ที่พัฒนาแบบองค์รวม ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทยในขณะนี้ นอกจากนี้ยังมีหลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) หรือหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตในวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับ BCG Strategy ที่ผู้อ่านจะได้ทำความเข้าใจด้วยเช่นกันว่าเกี่ยวข้องกับใครบ้าง แล้วเกี่ยวข้องกับประชาชนอย่างเราไหม
ก่อนที่ Circular Economy จะถูกกำหนดเป็นนโยบายของประเทศนั้น ภาคเอกชนหรือผู้ผลิตเองก็ไม่ได้สนใจเรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อมสักเท่าไร อีกทั้งทุกคนอาจจะเข้าใจว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของภาครัฐเท่านั้นด้วย แต่หลังจากที่ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มส่งผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้น ก็คงเป็นส่วนหนึ่งที่จุดประกายทำให้หลายภาคส่วนเริ่มตระหนักได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบกับทุกคน ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง ผลกระทบก็จะกลับมาที่เรานี่แหละ นอกจากนี้ยังมีเรื่องขยะพลาสติก ซึ่งประเทศไทยก็ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีปัญหาเช่นกัน โดยพลาสติกนั้นก็เกี่ยวข้องกับทั้งอุตสาหกรรมและผู้บริโภค ถ้าทุกคนไม่มีส่วนร่วมมันก็ไม่สามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปได้
เพราะฉะนั้น นโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมันถึงจะไปได้ แต่นโยบายก็ต้องมีความชัดเจนด้วย
ด้วยความที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาระดับโลก เพื่อให้ทันกับกระแสโลกนี้ ประเทศไทยจึงได้กำหนดให้ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นนโยบายของประเทศ และล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา (2022) ก็ได้มีการบรรจุให้ BCG โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ที่พัฒนาแบบองค์รวมเป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทยด้วย โดยเป้าหมายของ BCG ก็คือการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในขณะเดียวกันก็คำนึงลึกไปถึงการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด โดยจะทำยังไงให้ใช้ทรัพยากรน้อยแต่ได้ผลผลิตที่คุ้มค่า และในกระบวนการผลิตก็ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย รวมไปถึงการจัดการของเสียหลังการบริโภคที่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม
หลักการ BCG ประกอบไปด้วย B (Bio Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ C (Circular Economy) หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน และ G (Green Economy) หรือเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่ง 3 ตัวนี้มีความเชื่อมโยงกัน และมีความสำคัญ ดังนี้
B (Bio Economy) ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ (มีพืช มีสัตว์ชนิดต่างๆ มีความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร) อันดับที่ 16 ของโลก โดยเราสามารถใช้ความหลากหลายทางชีวภาพนี้เป็นแหล่งอาหาร แหล่งทรัพยากร และแหล่งยารักษาโรคได้ แต่สำหรับหลักการ BCG จะมองว่าทรัพยากรที่มีอยู่นั้น เราจะใช้ให้คุ้มค่าได้อย่างไร โดยมีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวง อว.) เป็นเจ้าภาพ เพราะรัฐบาลมองเห็นว่าต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขับเคลื่อน
C (Circular Economy) เรามองเศรษฐกิจเดิมว่าเป็นเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) เน้นใช้ทรัพยากรมาผลิตสินค้าและนำไปขาย ในขณะเดียวกันก็เกิดของเสียจากกระบวนการผลิตหรือจากทรัพยากรหมดอายุ เช่นปัญหาขยะ ซึ่งสามารถจัดการได้ถูกต้องประมาณครึ่งเดียว แต่ Circular Economy นั้นจะมองเป็นระบบ ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต พลังงาน การค้าขาย เน้นใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า เช่น โรงแรมต้องใช้เตียงและที่นอนค่อนข้างเยอะ เมื่อหมดอายุการใช้งานก็ต้องทิ้งไป แต่ถ้าเป็นระบบเช่าจะมีคนมาดูแลรักษา เมื่อหมดอายุการใช้งานชิ้นส่วนบางชิ้นส่วนก็ยังสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ต่อได้
G (Green Economy) จะต้องเป็นเศรษฐกิจที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประเทศไทยประกาศในเวทีโลกว่าเราจะมุ่งสู่คาร์บอนเป็นศูนย์ (์Net Zero) ในปี 2050
เราคำนึงถึงทั้งวัฏจักรผลิตภัณฑ์ว่าได้มาจากไหน ได้มาจากธรรมชาติหรือเปล่า ใช้เสร็จแล้วมันสามารถรีไซเคิลได้ไหม และท้ายที่สุดมันไปก่อปัญหาอื่นอีกหรือเปล่า คือมองเรื่องผลิตภัณฑ์อย่างเดียวไม่พอ ต้องดูหลังจากการใช้ผลิตภัณฑ์แล้วด้วยว่าจะต้องไปเป็นอะไรต่อ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องขับเคลื่อนต่อ
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียนได้เลือกประเด็นที่จะขับเคลื่อนอยู่ 3 ประเด็น คือ
นอกจาก BCG และ Circular Economy ที่เป็นเหมือนภาคบังคับของทุกภาคส่วนที่จะต้องให้ความสำคัญและขับเคลื่อนไปด้วยกันแล้ว ยังมี EPR (Extended Producer Responsibility) ที่เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงใน BCG Strategy ด้วย โดย EPR (Extended Producer Responsibility) เป็นหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตในวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เริ่มจากการคิดว่าจะผลิตผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ประเภทไหน แล้วใครต้องรับผิดชอบบ้าง ซึ่งไม่ใช่ความรับผิดชอบของผู้ผลิตอย่างเดียว ผู้บริโภคต้องให้ความร่วมมือด้วย ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น การใช้ EPR กับน้ำดื่มบรรจุขวด เมื่อผู้บริโภคดื่มเสร็จแล้ว ก็ต้องนำขวดไปคืน แล้วได้เงินกลับมา เรียกว่าระบบ Deposit refund จากนั้นผู้ผลิตก็เก็บขวดไปจัดการต่อ เช่น การรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
ซึ่งประเทศไทยพยายามที่จะทำระบบแบบนี้ แต่ปัญหาคือมันยังไม่ยั่งยืน อย่างตัวถังขยะเอง ประเทศไทยก็มีบริการเกินพอ แต่คนไม่ทิ้งขยะลงถังกัน จึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องสร้างระบบไปด้วยกัน โดยในกรณีนี้ก็ต้องมุ่งประเด็นไปที่การออกแบบเพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการจัดเก็บเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อ
นอกจากนี้ เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมก็สำคัญ อย่างการใช้แอปพลิเคชั่นเป็นตัวช่วยในเรื่องการจัดการขยะ ยกตัวอย่างของกลุ่ม PTT Plastic ซึ่งเป็นโครงการการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ก็มีการใช้แอปพลิเคชั่นในการเก็บรวบรวมขยะพลาสติก โดยตอนนี้มีโมเดลที่คลองเตยและปทุมวัน ที่กำลังจัดทำเรื่องประเภทพลาสติก และกำหนดช่วงเวลาให้คนไปจัดเก็บ ตรงนี้จะมองว่าเป็นเรื่องของการสื่อสาร ซึ่งนอกจากจะต้องออกแบบให้เหมาะสมแล้ว ยังต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคด้วย
คีย์เวิร์ดสำคัญของระบบ EPR คือต้องเป็นระบบที่ครบวงจร ต้องยั่งยืน และต้องมีระบบนิเวศที่เอื้ออำนวย ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องเข้าใจบริบทของประเทศไทยและพฤติกรรมของคนไทย แล้วจึงค่อยๆ เปลี่ยน เพื่อให้เวลาในการปรับตัว รวมถึงต้องคำนึงถึง Value chain ด้วย เพื่อที่จะนำไปสู่ระบบ EPR ที่เหมาะสมกับประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อน EPR จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ภาครัฐ นักวิชาการ หรือหน่วยงานอิสระ ที่สำคัญคือผู้บริโภคและประชาชน และเพื่อสร้างความร่วมมือของ Stakeholder กลุ่มนี้ให้ไปในในทิศทางเดียวกันก็จำเป็นต้องวิเคราะห์ระบบให้ชัดเจนก่อนว่าผู้ผลิตจะทำอะไร แล้วผู้บริโภคต้องมีบทบาทอย่างไร ต้องมีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยไหม เช่น หน่วยงานท้องถิ่นที่อยู่กับปัญหาและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนเป็นอย่างดี ที่สำคัญต้องชี้ให้เห็นว่าบทบาทของแต่ละภาคส่วนนั้น เมื่อทำไปแล้วจะได้อะไรกลับมา อย่างเรื่องขยะพลาสติก ตอนนี้เราก็มีชุมชนนำร่อง คือ ชุมชนวังหว้าที่ จ.ระยอง ที่เราไปส่งเสริมให้คนในชุมชนแยกขยะพลาสติกเป็นประเภทต่างๆ เพื่อนำไปจัดการต่อ (รีไซเคิล เผาเป็นพลังงานไฟฟ้า) ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะพลาสติก และสร้างรายได้ให้คนในชุมชน
นับเป็นความชัดเจนเลยว่าการสร้าง Circular Economy การขับเคลื่อน EPR รวมถึงการรับมือกับปัญหาเรื่องการจัดการขยะ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น คือไม่ทำไม่ได้ เพราะส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางด้านธุรกิจของภาคเอกชน และความมั่นคงในชีวิตของประชาชน
ฟังพอดแคสต์ Pack Back: Circular Economy กับการหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์ ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=QUzfrO9n5_k
กระป๋องอลูมิเนียมทุกใบที่คุณทิ้งไปอาจจะตายอย่างไร้ประโยชน์หรือจะได้ไปเกิดใหม่ ขึ้นอยู่กับการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางของคุณ
The TreeCycle of Joy ต้นคริสต์มาสรักษ์โลกจากกระป๋องอลูมิเนียมรีไซเคิลกว่า 10,000 กระป๋อง เคยจัดแสดงอยู่บริเวณลานหน้า Siam Discovery
อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคในยุคนี้มองหากันก็คือ เครื่องหมายที่บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์นั้นๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม