Aluminium Loop ขับเคลื่อนความยั่งยืนเต็มรูปแบบ
ชูนวัตกรรมรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมแบบ Closed Loop ที่แรกของไทย

ในยุคที่เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรับมือกับปัญหาและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก Aluminium Loop ได้เห็นถึงความสำคัญของการปฏิวัติวงจรการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมในประเทศไทย ด้วยการพัฒนาระบบรีไซเคิลกระป๋องและขวดอลูมิเนียมแบบวงจรปิด (Closed Loop) ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้การรีไซเคิลเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายและสามารถทำได้อย่างไม่รู้จบภายในประเทศ โดยที่คุณภาพของบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมรีไซเคิลยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไปพร้อมๆ กัน ได้อย่างยั่งยืน

คุณภวินท์ ชยาวิวัฒน์กุล ผู้ก่อตั้ง Aluminium Loop

Aluminium Loop ก่อตั้งโดย คุณภวินท์ ชยาวิวัฒน์กุล ซึ่งมีความเข้าใจในโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมเป็นอย่างดี จากการดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด (TBC) ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมแนวหน้าของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนที่กำลังเป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจของโลกยุคใหม่ จึงได้ริเริ่มโครงการ Aluminium Loop โดยมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้บรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมไม่เพียงตอบโจทย์ด้านการเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่สามารถรีไซเคิลได้ แต่ยังสามารถพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริง นำไปสู่การคิดค้นและพัฒนาระบบรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมแบบครบวงจร

ซึ่งปัจจุบัน มีเพียง 4 ประเทศในเอเชียที่สามารถดำเนินการภายในประเทศได้ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพที่โดดเด่น เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยสำหรับการรีไซเคิลแบบวงจรปิด อีกทั้งยังมีการสร้างความร่วมมือจากพันธมิตรรายสำคัญที่ช่วยให้โครงการ Aluminium Loop มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายในการสร้างสรรค์ ขับเคลื่อน และขยายวงจรการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมที่ยั่งยืนที่สุดในโลก ได้แก่

  1. ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด (TBC) ในฐานะผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดในไทยและอาเซียน ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยจากความร่วมมือกับ Ball Corporation ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ทำให้มีศักยภาพในการขับเคลื่อนวงจรรีไซเคิลที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมอย่างเป็นรูปธรรม

  2. ผู้เก็บรวบรวม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) ให้ความร่วมมือในการเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียม ใช้แล้วในประเทศไทย ซึ่งบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมใช้แล้วถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับผู้เก็บขยะรายย่อยได้เป็นอย่างดี ด้วยคุณค่าของตัววัสดุที่มีมูลค่ารับซื้อค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ทำให้มีประสิทธิภาพในการเก็บรวบรวมสูง จนก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมการรีไซเคิลที่แข็งแกร่ง

  3. ผู้รีไซเคิล บริษัท แองโกล เอเซีย เทรดดิ้ง จำกัด (Anglo Asia Trading) ใช้นวัตกรรมการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมโดยผ่านกระบวนการทำความสะอาด กำจัดสี และบด เพื่อเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมใช้แล้วให้เป็นอลูมิเนียมรีไซเคิลอัดก้อน

  4. ผู้ผลิตวัตถุดิบ บริษัท ยูเอซีเจ (ประเทศไทย) จำกัด (UACJ Thailand) ทำหน้าที่เปลี่ยนอลูมิเนียมรีไซเคิลให้เป็นวัตถุดิบอลูมิเนียมใหม่ โดยผ่านขั้นตอนการหลอม ขึ้นรูปเป็นแท่ง รีดเป็นแผ่น และจัดส่งในรูปแบบม้วนอลูมิเนียม (Aluminium Coil) เพื่อนำไปใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

    กระบวนการทั้งหมดนี้ สามารถทำได้ภายในรัศมี 400 กิโลเมตร ซึ่งเป็นหนึ่งในระยะทางที่สั้นที่สุดในโลก ทำให้การดำเนินงานตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานมีความสะดวก รวดเร็ว และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการขนส่ง พร้อมทั้งช่วยประหยัดต้นทุนทางการเงิน เวลา และทรัพยากร

กระบวนการรีไซเคิลแบบ Closed Loop

ทำไมต้องรีไซเคิลแบบ Closed Loop?

สำหรับการรีไซเคิลแบบวงจรปิด หรือ Closed Loop มีจุดเด่นในด้านการหมุนเวียนผลิตภัณฑ์ให้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์เดิมที่พร้อมใช้งานได้ใหม่ ซึ่งบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมสามารถรีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมใหม่ได้ไม่จำกัดครั้ง ด้วยคุณสมบัติของอลูมิเนียมที่สามารถหลอมเป็นวัตถุดิบตั้งต้นได้ใหม่โดยไม่สูญเสียคุณภาพ อีกทั้งไม่ต้องปรับเปลี่ยนส่วนประกอบของวัสดุใหม่ ช่วยลดการใช้ทรัพยากร รวมถึงลดพลังงานในการผลิตลงได้กว่า 95% นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมหาศาล ก่อเกิดเป็นวงจรการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยั่งยืนอย่างแท้จริง                     

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการรีไซเคิลแบบวงจรเปิด หรือ Open Loop ที่เปลี่ยนวัตถุประสงค์ของวัสดุจากผลิตภัณฑ์เดิม ก่อนการรีไซเคิลไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ จากกระป๋องอลูมิเนียมไปเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ซึ่งถึงแม้จะช่วยต่ออายุวัสดุอลูมิเนียม แต่ต้องเพิ่มทรัพยากรใหม่และใช้พลังงานในการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน จึงอาจเป็นการตัดวงจรความยั่งยืนของระบบการรีไซเคิลที่ Aluminium Loop ให้ความสำคัญ และต้องการผลักดันให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงกระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง

การรีไซเคิลแบบวงจรปิด ถือเป็นมาตรฐานสูงสุดที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและเป็นวงจรที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลก

เป้าหมายในอนาคตที่ยั่งยืน

ปัจจุบัน Aluminium Loop ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยตลอดโครงการสามารถเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมใช้แล้วกลับมารีไซเคิลมากกว่า 1,000 ล้านใบ และในปี 2025 นี้ มีเป้าหมายสำคัญในการขยายปริมาณการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมใช้แล้วให้ได้ 800 ล้านใบ และในระยะยาว 5,000 ล้านใบ ซึ่งจะครอบคลุมปริมาณการใช้งานบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมทั้งหมดในประเทศไทยให้มาเข้าร่วมระบบรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนของเรา

พร้อมกันนี้ยังมุ่งมั่นที่จะทำให้บรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมมีความยั่งยืนครอบคลุมหลายมิติมากขึ้น โดยมีแผนจะเปิดตัวโครงการ Aluminium Solar บรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในกระบวนผลิต ในเร็วๆ นี้ จากความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้บรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมสามารถปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในอนาคต รวมถึงส่งเสริมให้พันธมิตรของเราเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดทั้งกระบวนการ

Facebook
Twitter
LinkedIn